กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนจัดเสวนาวิชาการ "Media & Communication: Learning from others" และการนำเสนอผลงานวิจัยภายใต้หัวข้อ ASEAN Media Moveในโอกาสครบรอบ 61 ปีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน พร้อมเผยข้อมูลงานวิจัยด้านสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนอาทิ งานวิจัย "พัฒนาการและแนวโน้มของอุตสาหกรรมโฆษณาในประเทศไทย" งานวิจัย "ไทยในสายตาของสื่อลาว ศึกษากรณีหนังสือพิมพ์ปะซาซน" งานวิจัย "การนำเสนอเนื้อหาวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มอาเซียนในรายการสารคดีโทรทัศน์ไทย"ฯลฯ ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยดังกล่าวพบข้อมูลเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนในบริบทประชาคมอาเซียนเพื่อเรียนรู้ทิศทางของสื่อในอนาคตตลอดจนการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านสื่อสารมวลชนของประเทศไทยอาทิ แนวทางการเสนอข่าวของไทยเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาว ทัศนคติของชาวสิงคโปร์ที่มีต่อประเทศไทย แนวทางการกำหนดสัดส่วนการเสนอข่าวสารและรายการเกี่ยวกับอาเซียนเพื่อการเรียนรู้ของคนไทย ฯลฯ โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ณ อาคารธรรมศาสตร์ 60ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ โดยมีนักวิชาการเข้าร่วมงานจำนวนมาก
รองศาสตราจารย์ พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เผยว่า คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ในฐานะที่เป็นคณะด้านสื่อสารมวลชนแห่งแรกของไทย ที่เปิดทำการเรียนการสอนมากว่า 61 ปี และผลิตนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก โดยในปี 2558 เป็นปีครบรอบ 61 ปีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนทางคณะฯ จึงจัดงานเสวนาวิชาการ"Media & Communication: Learning from others"และการนำเสนอผลงานวิจัย ภายใต้หัวข้อASEAN Media Moveโดยจุดประสงค์หลักเพื่อเปิดมุมมองใหม่ให้สังคมได้รับรู้ถึงแง่ลึกของสื่อในอาเซียน ตลอดจนมุมมองของสื่อในประเทศต่างๆ ที่มีต่อประเทศไทยในเชิงสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ สื่อโฆษณาและสื่อมวลชนอื่นๆ ผ่านงานวิจัยจากคณาจารย์อาทิ งานวิจัย "พัฒนาการและแนวโน้มของอุตสาหกรรมโฆษณาในประเทศไทย" งานวิจัย "ไทยในสายตาของสื่อลาว ศึกษากรณีหนังสือพิมพ์ประชาชน" และ งานวิจัย "การนำเสนอเนื้อหาวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มอาเซียนในรายการสารคดีโทรทัศน์ไทย"เป็นต้น อย่างไรก็ตามการเสวนาดังกล่าวนอกจากเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองการจัดการเรียนการสอนและผลงานวิจัยด้านการสื่อสาร ยังเป็นข้อมูลเพื่อรู้ทิศทางของสื่อในอนาคตตลอดจนเป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนของประเทศไทยได้ในอนาคตหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์รุจน์ โกมลบุตรอาจารย์ประจำกลุ่มวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนผู้วิจัยการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับประเทศไทยที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ศึกษากรณีหนังสือพิมพ์ "ปะซาซน"กล่าวว่าจากผลวิจัยจากหนังสือพิมพ์ "ปะซาซน" ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลที่มียอดจำหน่ายสูงสุดถึง 30,000 ฉบับต่อวันพบว่า หนังสือพิมพ์ปะซาซน มุ่งนำเสนอเนื้อหาข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยเชิงบวกมากกว่า 4 ใน 5 ของเนื้อข่าวไทยทั้งหมด และมักปรากฏอยู่ในรูปแบบของบทความ ข่าว และภาพข่าว ในพื้นที่ข่าวหน้า 1 หน้าสังคม และหน้าข่าวต่างประเทศ ตามลำดับ ตลอดจนมุ่งนำเสนอประเทศไทยในบทบาทพันธมิตรในด้านสังคมและวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยส่วนใหญ่จะนำเสนอเรื่องไทยในทิศทางบวกในทุกๆ หน้าของหนังสือพิมพ์เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับไทย แต่ความรู้สึกของประชาชนชาวลาวที่มีต่อประเทศไทยไม่ได้เป็นไปตามการนำเสนอของหนังสือพิมพ์ประชาชนเสมอไป เพราะความขัดแย้งในอดีตที่ยังคงฝังรากลึก อาทิ กรณีพิพาทบ้านร่มเกล้า ปี 2531 และการที่ไทยมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากต่อลาว เป็นต้น ทั้งนี้ ในฐานะคนไทยจึงควรปรับตัวทำให้คนลาวไว้วางใจโดยนำเสนอเรื่องราวของประเทศลาวในฐานะพันธมิตรที่เท่าเทียมกันเพื่อสร้างความร่วมมือและจะสามารถสร้างโอกาสทางการแข่งขันในประชาคมอาเซียนในอนาคต เพราะประเทศลาวเป็นประเทศที่มีพื้นฐานแนวคิด วัฒนธรรมและภาษาใกล้เคียงกับไทยที่สุด
ด้านอาจารย์เกศราพร ทองพุ่มพฤกษาอาจารย์ประจำกลุ่มวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนกล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยเรื่อง "การนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับประเทศไทยที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษกรณีศึกษา หนังสือพิมพ์สิงคโปร์" โดยการรวบรวมหนังสือพิมพ์เดอะสเตรทไทม์ส (The Straits Times) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในสิงคโปร์กว่า 449,200 ฉบับต่อวัน และมียอดผู้อ่านมากที่สุดถึง 1.39 ล้านคน โดยจากการวิเคราะห์ถึงลักษณะเนื้อหาและทิศทางการการนำเสนอ ซึ่งพบว่า หนังสือพิมพ์ดังกล่าวนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทย ในรูปแบบข่าวมากที่สุด โดยเฉพาะเนื้อหาด้านการเมือง สังคมและวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ขณะที่ทิศทางการนำเสนอเนื้อหานั้น แบ่งออกเป็น 3 ทิศทางคือ ทิศทางบวก กลาง และลบ ซึ่งพบว่าถูกนำเสนอในเชิงลบมากที่สุด ในเนื้อหาข่าวที่แสดงถึงการมีปัญหาทางการเมือง แต่ในทางกลับกันก็นำเสนอสารคดีเกี่ยวกับประเทศไทยด้านสังคมและวัฒนธรรมในเชิงบวกมากที่สุด นับเป็นการสะท้อนมุมมองของสื่อสิงคโปร์ได้ดีว่า มีมุมมองต่อสถานการณ์ประเทศไทยอย่างไร ทั้งนี้นับเป็นงานท้าทายใหม่ของสื่อมวลชนไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการนำเสนอข่าวสารในแง่มุมใหม่ เพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนสิงคโปร์ นำเสนอประเทศไทยในเชิงบวกที่มากขึ้น เพื่อส่งผลบวก ต่อการลงทุน เศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะประเทศสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจด้านการลงทุนประเทศหนึ่งของโลก
อาจารย์พรชัย ฉันต์วิเศษลักษณ์อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ประเทศไทยต้องเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องราวด้านสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน เพื่อสร้างความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงเป็นที่มาของการทำวิจัยการนำเสนอเนื้อหาด้านวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มอาเซียน ในรายการสารคดีโทรทัศน์ไทย โดยผลการวิจัยพบว่า สถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยมีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกในอาเซียนค่อนข้างน้อยโดยสถานีโทรทัศน์ของรัฐและสาธารณะ ให้ความสำคัญมากที่สุด เมื่อพิจารณาจากเวลาในการออกอากาศที่มีความยาวรายการประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ในเวลาไพร์มไทม์ (Prime Time) ขณะที่สถานีโทรทัศน์ธุรกิจออกอากาศในช่วงเวลาอื่นและมีความยาวรายการเพียง 3-5 นาที นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าบุคลากรผู้ผลิตเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีทักษะในการผลิตรายการ และมีความรู้เรื่องประชาคมอาเซียนในมุมของวัฒนธรรมเป็นอย่างดี "องค์ความรู้และต้นทุนทางวัฒนธรรมของทีมผู้ผลิต" จึงมีผลต่อจำนวนรายการที่นำเสนอในปริมาณที่น้อยสถานีโทรทัศน์จึงจำเป็นต้องกำหนดนโยบายส่งเสริมทีมผู้ผลิตเพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพของผู้ผลิตรายการและส่งเสริมการเพิ่มสัดส่วนของเนื้อหารายการเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อเป็นช่องทางการสร้างเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้ และเข้าใจในความหลากหลายของอาเซียนได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ด้านมุมมองการนำเสนอสารคดีโทรทัศน์ด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ผู้ผลิตรายการบอกเล่าเรื่องราวอาเซียน ให้ผู้ชมได้รู้จักประชาคมอาเซียน ภายใต้คำว่า "เรา" กับ "เขา" ผ่านมุมมองของเรื่อง ที่แตกต่างกัน เป็น 3 แนวทางคือ
แนวทางแรก นำเสนอมุมมอง "เรา" และ "เขา" แบบตายตัวว่า "เรา" คือคนไทย และ "เขา" คือพลเมืองในประเทศต่างๆ ของอาเซียน
แนวทางที่สอง นำเสนอมุมมอง "เรา" แบบไร้ขอบเขตจำกัด สามารถเลื่อนไหลไปมาได้ ซึ่งแบ่งย่อยได้เป็น 2 แบบ คือ (1) รายการที่นำเสนอเฉพาะอาเซียน "เขา" หมายถึง คนอาเซียน หรือประเทศต่างๆ ในอาเซียน ส่วน "เรา" สามารถเลื่อนไหลความหมายเป็น คนไทย ประเทศไทย (I) หรือพลเมืองอาเซียน ประเทศอาเซียน (We) ตามประเด็นที่นำเสนอ (2) รายการที่นำเสนอเรื่องราวกว้างกว่าแค่อาเซียน กำหนดว่า "เรา" จะเป็น คนไทย คนอาเซียน หรือคนเอเชีย ขึ้นอยู่กับบริบทการนำเสนอว่า "เรา" ศึกษาเรียนรู้ "เขา" ในระดับไหน เช่น ถ้า "เขา" คืออาเซียน "เรา" ก็คือ คนไทย แต่ถ้า "เขา" คือ ประเทศอื่นๆที่ไม่ใช่อาเซียน "เรา" ก็คือ คนไทย หรือคนอาเซียน เป็นต้น แนวทางที่สาม เป็นการนำเสนอมุมมองที่กำหนดว่า "เรา" คือใครก็ได้ที่สนใจเรื่องอาเซียน และ "เขา" ที่ "เรา" ติดตามเรื่องราวคือพลเมืองอาเซียน ประเทศสมาชิกอาเซียน
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทย ผ่านการปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอดรับตามแนวคิด "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.. มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง"สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร.02-613-3030