กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--
เวที "ตลาดนัดโอกาสร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ" คึกคัก "ภาคสังคม-ภาคธุรกิจ" กว่า 100 องค์กรร่วมหนุนเสริมโครงการ "ร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ" ตั้งเป้าระดม 4 ทรัพยากรสำคัญ "อาสาสมัคร-เงินทุน-เครือข่าย-ความรู้" ให้โครงการเพื่อสังคมที่พร้อมขยายผลกว่า 30 โครงการเพื่อให้สามารถช่วยคนไทยได้กว่า 4.12 ล้านคน พร้อมเปิดตัวเวบไซต์ www.thailandcollaborationforchange.com พื้นที่กลางเชื่อมต่อผู้สนับสนุน เป้าหมายสูงสุดเพื่อสร้างพลังร่วม (Collective Impact Partnership) ให้ทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพี่อคนไทย หนึ่งในภาคีผู้ร่วมดำเนินการโครงการ "ร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ" กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากการมองเห็นช่องว่างของคนและองค์กรที่ทำงานพัฒนาสังคมในประเทศไทยจำนวนมาก ขาดโอกาสในการเชื่อมต่อและประสานทรัพยากรประเภทต่างๆ ร่วมกัน ขณะเดียวกัน สังคมไทยมีผู้ที่มีความพร้อมในการให้การสนับสนุนอยู่ไม่น้อย ทั้งเรื่องอาสาสมัคร เครือข่าย เงินทุน และความรู้ แต่ขาดช่องทางและการบริหารจัดการ "ร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ" จึงทำหน้าที่เสมือนเป็นองค์กรตัวกลางเชื่อมสองภาคส่วนนี้เข้าด้วยกัน ให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างผลลัพธ์ร่วม
"เพราะปัญหาประเทศมีขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องสร้างกลไกหรือเครื่องมือให้คนจำนวนมากสามารถลงมือทำร่วมกันได้ จะยิ่งช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ให้กับสังคม" ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทยกล่าว
ทั้งนี้ สถานะโครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน 2558 นับตั้งแต่ได้ประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และเริ่มประกาศรับสมัครโครงการเพื่อสังคมในเดือนพฤษภาคมต่อมา ปรากฏว่ามี 141 โครงการที่สมัครเข้าร่วม 68 โครงการพร้อมดำเนินงาน และ 31 โครงการที่พร้อมขยายผลเพื่อให้สามารถช่วยคนไทยได้เบื้องต้น 4.12 ล้านคนตามจำนวนกลุ่มเป้าหมายของผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการ ในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย คนชรา คนพิการและสังคมสุขภาวะ 1.3 ล้านคน เยาวชน 4.8 แสนคน คนต้านโกง 3.5 แสนคน คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ 2.5 หมื่นคน เกษตรกร 1.2 ล้านคน ประชาชนในพื้นที่ท่องเที่ยวชุมชน 3 แสนคน และพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม 4.6 แสนคน
การจัดงาน "ตลาดนัดโอกาสร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ : กลไกลดความเหลื่อมล้ำ..ปัญหาเด็ก เกษตรกร คนชรา คนพิการและต่อต้านคอร์รัปชัน" เมื่อ 1 ธันวาคม จึงเกิดขึ้นเพื่อนำตัวอย่างความสำเร็จในระดับหนึ่งของโครงการที่พร้อมขยายผลมาระดมทรัพยากร 7 โครงการ และเป็นเวทีของการพบกันระหว่างภาคีเจ้าของโครงการและภาคีภาคธุรกิจผู้มีแนวโน้มเป็นผู้สนับสนุนทรัพยากร
โครงการดังกล่าวมีความต้องการเบื้องต้นเพื่อช่วยกลุ่มเป้าหมายนำร่องจำนวน ดังนี้ 1) โครงการช่วยเหลือและพัฒนาเยาวสตรี ต้องการนักจิตวิทยาและเงินทุนสนับสนุนการบริหารจัดการช่วยเยาวชนสตรีคนละ 53,610 บาท จำนวน 90 คน 2) โครงการส่งน้องเรียนสร้างเด็กดี ต้องการอาสาสมัครพี่เลี้ยงและทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน 4,000 คน เฉลี่ยทุนละ 45,000และ66,000 บาทตลอดปีการศึกษา 2559-2565 3)โครงการสื่อดิจิทัลลดความเหลื่อมล้ำวิทย์-คณิต ต้องการระดมทุน 610,000 บาท เพื่อนักเรียนด้อยโอกาส 300 คน 4) โครงการหลักสูตรสุจริตไทย ต้องการเครือข่ายขยายผลเรียนรู้หลักสูตรออนไลน์ 200,000 คน 5) โครงการคนกล้าคืนถิ่น ต้องการอาสาสมัครไม่จำกัดจำนวนและเงินทุน 28,000 บาทต่อคน จำนวน 1,600 คน ในปี 2559 จากเป้า 1 ล้านคนภายใน 5 ปี 6) โครงการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานให้ชุมชนและองค์กรสาธารณประโยชน์ ต้องการเครือข่าย 500 บริษัท จ้างงานคนพิการ 5,000 ตำแหน่งจากเป้าหมาย 3.5 แสนตำแหน่งในอนาคตอันใกล้ 7) โครงการคนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน ต้องการระดมทุน 364,000 บาทต่อเดือน สำหรับการบริหารสถานบริบาลผู้สูงอายุและ 125,000 บาทต่อเดือนสำหรับงานบริบาลอาสาผู้ป่วยสูงอายุในชุมชนเป็นระยะเวลา 1 ปี
อีกทรัพยากรที่สำคัญได้แก่ ทรัพยากรคน หรืออาสาสมัคร ในงานตลาดนัดร้อยพลังฯ จึงมีตัวอย่างความสำเร็จของกลุ่มอาสาสมัครระดับบุคคลที่พร้อมอุทิศเวลาและความเชี่ยวชาญช่วยสังคม ใน"เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์อาสาสมัครพัฒนากองทุนเพื่อสังคม" วิทยากรประกอบด้วยนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ นายมนตรี ศรไพศาล และนายวินท์ ภักดีจิตต์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการกำกับทิศทางพัฒนากลไกระดมทุนและพัฒนาเครื่องมือการลงทุนเพื่อสังคม ร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ ร่วมกับนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ นางวาทนันท์ พีเตอร์สิค นางดวงทิพย์ เอี่ยมรุ่งโรจน์ นายวิเชียร พงศธร และนายสุนิตย์ เชรษฐา คาดว่าพร้อมเปิดตัวกลไกนี้ในปี 2559 ขณะที่ก่อนหน้านี้โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศได้รับการสนับสนุนจากอาสาสมัครระดับองค์กรอย่าง บลจ.บัวหลวง ซึ่งนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาโครงการเพื่อสังคม กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND) ได้ให้การสนับสนุนไปแล้ว 11 โครงการ รวมงบประมาณ 10.56 ล้านบาท
"งานตลาดนัดโอกาสร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ" ครั้งที่ 1 ได้รับความสนใจจากองค์กรภาคธุรกิจและภาคีภาคสังคมเข้าร่วมเกือบ 150 องค์กร เฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่ตอบรับร่วมเป็นผู้สนับสนุนทรัพยากร ได้แก่ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กลุ่มบริษัทไมเนอร์ บริษัท สลิงชอท กรุ้ป จำกัด กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ บลจ.บัวหลวง หอการค้าไทย กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้าไทย (YEC) และไม่น้อยกว่า 30 บริษัทที่อยู่ระหว่างพิจารณาให้การสนับสนุน นอกจากนั้นยังมีภาคการศึกษาที่แสดงความสนใจร่วมสนับสนุนกลไกร้อยพลังฯ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์
สำหรับกิจกรรมระดมทรัพยากร "งานตลาดนัดโอกาสร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ" จะมีการจัดขึ้นต่อเนื่องตลอดปีจนกว่าจะเกิดระบบนิเวศใหม่ของสังคมแห่งความร่วมมือ ทุกครั้งของการจัดงานจะมีการเผยแพร่เอกสารที่รวบรวมสถานะล่าสุดของโครงการร้อยพลังฯ พร้อมระบุความต้องการและผลทางสังคม นับเป็นแหล่งรวมข้อมูลโครงการระดับประเทศครั้งแรกที่ประกาศต่อสาธารณะเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมสนับสนุนได้ สามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ www.thailandcollaborationforchange.com อนึ่ง โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของ "โครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทย" (Inspiring Thailand) ซึ่งมีภาคีเครือข่ายทั้งภาคธุรกิจและภาคสังคมกว่า 20 องค์กรร่วมสร้างพลังพลเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม