กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--โฟร์ พี.แอดส์ (96)
สเปเชียลโอลิมปิก ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขโดยสถาบันราชานุกูล จัดสัมมนา "โครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Special Olympic Thailand Healthy Communities Project)" ภายใต้ทุนสนับสนุนจากมูลนิธิกอลิซาโน่และองค์การยูนิเซฟประเทศไทยโดยมีแพทย์หญิงประนอมคำเที่ยงรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเปิดงานเผยประเทศไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่ได้รับเลือกให้แสดงผลงานดีเด่นในที่ประชุมนานาชาติของสเปเชียลโอลิมปิคสากล (Special Olympic International) ที่กรุงลอสแอนเจลิสที่ผ่านมา โดยได้ดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 6 โรงเรียน 6 จังหวัดใน กทม. ลพบุรี สุพรรณบุรีเชียงใหม่ อุบลราชธานี และภูเก็ต พบโรคลมชักเป็นโรคประจำตัวเรื้อรังในเด็กมากที่สุด ในขณะที่โรคออทิสติกเป็นโรคทางจิตเวชที่พบในเด็กส่วนใหญ่ รองลงมาคือโรคสมาธิสั้น ส่วนกลุ่มอาการดาวน์ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้เกิดภาวะบกพร่องทางสติปัญญามากที่สุดพบมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2557 พร้อมเดินหน้าขยายพื้นที่วางระบบดูแลสุขภาพ เด็กบกพร่องทางสติปัญญาให้เกิดความยั่งยืนด้วยโมเดล "โดยชุมชนเพื่อชุมชน"ให้ครบ 20 แห่งทั่วประเทศ
แพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาถือเป็น 1 ในความพิการ 7 ประเภท ประเทศไทยพบร้อยละ 1.3 ของประชากร หรือประมาณ 1 ล้านคน โดยมีการเข้าถึงบริการเพียงร้อยละ 6.25 กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายการบูรณาการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ในปีงบประมาณ 2559 ได้ตั้งเป้าหมายให้คนพิการสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ดังนั้นการดำเนินโครงการนี้จึงเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้สังคมตระหนักและเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพของบุคคลที่บกพร่องทางสติปัญญา จึงเกิดความร่วมมือทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนครอบครัว สังคม องค์กรท้องถิ่น และภาคเอกชน
รศ.ดร.นริศ ชัยสูตร ประธานคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกจาก 33 ประเทศสมาชิกของสเปเชียลโอลิมปิคสากล (Special Olympics International) ให้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อศึกษารูปแบบของการขยายการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้กับบุคคลที่บกพร่องทางสติปัญญาในพื้นที่แตกต่างกันทั่วโลก ซึ่งโครงการนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการโดยอดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกานายบิลคลินตันในการประชุมใหญ่ของClinton Global Initiatives เมื่อปี 2555 และจากการดำเนินงานขยายผลสเปเชียลโอลิมปิคไทยได้รับเลือกเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่ได้แสดงผลงานดีเด่นให้กับที่ประชุมนานาชาติของสเปเชียลโอลิมปิคสากลที่กรุงลอสแอนเจลิสในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
คุณวาเลรี ตาตอน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการได้เปิดเผยถึงความสำคัญของโครงการในการขับเคลื่อนพัฒนาการของเด็กพิการไทยว่า เด็กพิการมักไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิการมีสุขภาพอนามัยดี สิทธิการได้รับการศึกษา สิทธิการได้รับการปกป้องคุ้มครองจากภัยอันตราย และสิทธิการมีส่วนร่วมในสังคม และการไม่ถูกตีตราหรือถูกรังเกียจจากสังคม การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมสิทธิขั้นพื้นฐานในสังคมถือเป็นประเด็นที่ยูนิเซฟให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ
นายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่าจากข้อมูลคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ณ วันที่ 2 พ.ย.2558 ประเทศไทยมีผู้พิการจำนวน 1,675,753 คน เป็นผู้พิการทางสติปัญญา 114,237 คน (ร้อยละ 6.81) การดูแลคนพิการจึงต้องให้สิทธิและโอกาสเทียบเท่ากับคนปกติและต้องปฏิบัติกับเขาอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ที่สำคัญคือการให้กำลังใจคนพิการไม่มองเห็นเป็นภาระแต่เป็นพลัง ปัจจุบันมีโครงการจ้างงานคนพิการซึ่งมีกฎหมายรองรับว่าสถานประกอบการทุกแห่งใน 100 คนทำงานต้องจ้างคนพิการ 1 คน ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ด้วยตนเองถือเป็นการสร้างความภาคภูมิใจเพราะผู้พิการไม่ต้องการความสงสาร ในส่วนของนโยบายและยุทธศาสตร์ในการดูแลสุขภาพบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเพื่อความยั่งยืนต่อไปนั้นเป็นการทำงานและร่วมมือกับกรมสุขภาพจิก กระทรวงสาธารณสุข
พญ.พรรณพิมล วิปุลากรรอง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาได้ดำเนินการต่อเนื่องตลอด 3 ปีนำร่องใน 6 โรงเรียนในกทม.ลพบุรี สุพรรณบุรีเชียงใหม่ อุบลราชธานี และภูเก็ต พบว่าปีการศึกษา 2557 และ 2558 มีเด็กนักเรียนผ่านการประเมินสุขภาพ 1,357 และ 1,253 รายตามลำดับมีโรคประจำตัวเรื้อรังประมาณร้อยละ 11 โดยพบโรคลมชักมากที่สุด ในส่วนของโรคทางจิตเวชส่วนใหญ่เป็นโรคออทิสติกรองลงมา คือ โรคสมาธิสั้นส่วนกลุ่มอาการดาวน์ ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้เกิดภาวะบกพร่องทางสติปัญญามากที่สุดพบร้อยละ 14.6 ในปี 2557 และร้อยละ 18.5 ในปี 2558 ผลจากโครงการในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการดำเนินงานสำคัญเพื่อนักเรียนและบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาได้แก่ 1.การส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของระบบส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ 2.การมีระบบการดูแลภายในโรงเรียนและกลไกการส่งต่อปัญหาสุขภาพ ที่เอื้อต่อข้อจำกัดของเด็กและครอบครัว และ3.มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวางแผนการดำเนินงานและประเมินผลร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งนี้ได้เดินหน้าทดลองขยายการทำงานผ่านการประสานงานของหน่วยงานสาธารณสุขและการศึกษาในโรงเรียนการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเพิ่มอีก 14 แห่งทั่วประเทศ ให้เกิดระบบการดำเนินงานที่ยั่งยืนด้วยโมเดล "โดยชุมชนเพื่อชุมชน" ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างผู้ปกครองครูบุคลากรสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อทำให้เด็กที่อยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษเป็นต้นแบบการรับบริการสุขภาพอย่างครบถ้วนเด็กสามารถดูแลตัวเองและพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง
ด้านนางลำพึง ศรีมีชัย รอง.ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือในการจัดการการศึกษาสำหรับคนพิการร่วมกันนอกจากนี้ยังได้เตรียมดำเนินการโครงการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในการดูแลเด็กเช่นการเตรียมจัดตั้ง โรงเรียนออทิสติกอีกที่ จ.ขอนแก่น โรงเรียนเด็กพิเศษที่ จ.ชลบุรี ตลอดจนโรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่จะนำโมเดลของโครงการนี้ไปต่อยอดโครงการของกระทรวงฯ ต่อไป