กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สืบเนื่องมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2558 มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ.… ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และถูกคัดค้านจากภาคประชาชน กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ องค์กรภาคประชาสังคม เกษตรกร และภาครัฐประกอบด้วยกระทรวงพาณิชย์และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นายวัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "ร่างพ.ร.บ.นี้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางชีวภาพของประเทศไทย ส่งผลร้ายต่อภาคการเกษตรทั้งเกษตรกรและผู้ส่งออก อีกทั้งยังมีช่องโหว่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ" ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่มีการใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ในเชิงพาณิชย์คือ 20 ปีที่สะท้อนความล้มเหลว (1) เนื่องจาก
ไม่มีพืชจีเอ็มชนิดใดที่ถูกออกแบบมาเพื่อปริมาณผลผลิต พืชดัดแปลงพันธุกรรมคือการประยุกต์อย่างดันทุรังเพื่อแก้ปัญหาความหิวโหยและการขาดสารอาหาร นี่คือการส่งเสริมรูปแบบการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่ล้มเหลวในการผลิตอาหารให้กับคนทั้งโลก
พืชจีเอ็ม ไม่ใช่คำตอบสำหรับการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นจะต้องอาศัยแนวทางการเกษตรที่ส่งเสริมความหลากหลายและปกป้องรักษาดิน ไม่ใช่ระบบการเกษตรที่ลดทอนความสำคัญของปัจจัยรอบตัวซึ่งพืชจีเอ็มถูกพัฒนามาใช้กับระบบนี้
พืชจีเอ็ม ไม่ปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ไม่มีโปรแกรมการติดตามเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาวหรือมีไม่เพียงพอ นักวิชาการอิสระชี้แจงว่าถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงวัตถุดิบสำหรับการวิจัย
พืชจีเอ็ม เป็นตัวการของปัญหาวัชพืชและแมลง เพียงไม่กี่ปีหลังจากการนำพืชจีเอ็มออกสู่สิ่งแวดล้อมก็พบปัญหาวัชพืชที่ต้านทานสารกำจัดวัชพืชและอภิแมลง (superpests หรือ แมลงที่ทนต่อยาฆ่าแมลงและสารพิษจากพืชจีเอ็ม) สาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาวัชพืชและอภิแมลงมาจากการใช้พืชจีเอ็ม ที่ต้านทานสารกำจัดวัชพืชและยาฆ่าแมลง ทำให้ต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืชมากขึ้น
พืชจีเอ็ม ทำให้เกษตรกรยากจนลง ราคาเมล็ดพันธุ์ถูกควบคุมโดยเจ้าของสิทธิบัตรและราคาได้พุ่งทะยานขึ้นในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของวัชพืชที่ต้านทานสารกำจัดวัชพืชและอภิแมลงเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรทำให้มีกำไรยิ่งลดน้อยลง
พืชจีเอ็ม ไม่สามารถอยู่ร่วมกับการเกษตรระบบอื่นได้ มีการบันทึกว่าการปนเปื้อนจากพืชจีเอ็ม ได้เกิดขึ้นทั่วโลกเกือบ 400 ครั้ง(2) การทำเกษตรให้ปลอดจากพืชจีเอ็ม เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกร และบางครั้งก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
พืชจีเอ็ม ไม่ใช่นวัตกรรมที่ดีที่สุดสำหรับระบบอาหาร การผสมพันธุ์พืชโดยวิธีที่ไม่อาศัยการดัดแปลงพันธุกรรมได้สร้างคุณลักษณะที่พืชจีเอ็ม กล่าวอ้างไว้ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความต้านทานโรค ความทนทานต่อน้ำท่วมและความแห้งแล้ง พืชจีเอ็ม ไม่ได้เป็นเพียงแต่นวัตกรรมที่ไร้ประสิทธิภาพแต่ยังเป็นการปิดกั้นนวัตกรรมเนื่องจากเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นสิทธิ์ของบริษัทข้ามชาติที่มีจำนวนเพียงหยิบมือ
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุติการพิจารณาเพื่อเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพและรับประกันว่าการผลักดันให้มีกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึงหลักการความปลอดภัยไว้ก่อนและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
หมายเหตุ:
(1) http://www.greenpeace.org/international/Global/international/publications/agriculture/2015/Twenty%20Years%20of%20Failure.pdf
(2) Price, B., & Cotter, J. 2014. The GM Contamination Register: a review of recorded contamination incidents associated with genetically modified organisms (GMOs), 1997-2013. International Journal of Food Contamination, 1: 5.