K-Expert We Share ถอดรหัสรวยปีวอก โดย วีระพล บดีรัฐ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 10, 2015 15:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ธ.ค.--ชมฉวีวรรณ K-Expert ร่วมกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการใช้ชีวิตและการวางแผนการเงิน ถึงทิศทางเศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศในปี 2559 ประกอบด้วย 1. ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2559 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2559 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นไปในลักษณะ "ดีขึ้นแบบระมัดระวัง" โดยคาดว่าดัชนีมวลรวมในประเทศ หรือ GDP จะอยู่ที่ 3% สำหรับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น มีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการขยายตัวของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี กรอบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศ ในมุมของการลงทุน ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความน่าสนใจ แม้อาจจะไม่ดีเท่ากับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีแรงหนุนจากการลงทุนผ่านกองทุนรวม LTF แต่ด้วยค่าเงินบาทที่อ่อนตัวอย่างตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีหุ้นยังปรับตัวขึ้นได้ไม่มากนัก 2. แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มการฟื้นตัวในกรอบจำกัด เนื่องจากเส้นทางการฟื้นของหลายๆ ประเทศยังคงมีความเปราะบาง โดยเฉพาะจีนและหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย · เศรษฐกิจสหรัฐ อาจขยายตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดการณ์ GDP อยู่ที่ 2.4% สำหรับปัจจัยที่ส่งผลดีนั้น ส่วนใหญ่มาจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ในปี 2559 คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ · เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยูโรโซน ยังคงต้องพึ่งพาแรงหนุนจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน โดยคาดว่าธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB จะเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหรือ QE · เศรษฐกิจญี่ปุ่น อาจขยายตัวดีขึ้นกว่าในปี 2558 ที่ได้รับผลกระทบหลักจากการขึ้นภาษีการขาย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เป็นนโยบายหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เห็นได้จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง · เศรษฐกิจจีน อาจขยายตัวแบบชะลอตัว ในช่วงที่ทางการจีนเดินหน้าปฏิรูประบบเศรษฐกิจ สำหรับปี 2559 ธนาคารกลางจีน หรือ PBOC ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัว 3. แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.5% ต่อเนื่องตลอดปี 2559 ขณะที่คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทยอยปรับขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ และในปีหน้า อยู่ที่ 0.5%-1% ในมุมของผู้บริโภคต่อทิศทางดอกเบี้ยไทย ผู้ที่กำลังตัดสินใจขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหรือผู้ที่กำลังจะ Refinance อาจเลือกสินเชื่อที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย ในมุมของการลงทุน ระยะสั้นอาจเลือกลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่การลงทุนระยะกลางถึงยาวนั้น แนวโน้มผลตอบแทน (Yield) ของตราสารหนี้ระยะกลางมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลลบต่อกองทุนรวมตราสารหนี้ ดังนั้น แนะนำให้ปรับลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุเกินกว่า 1 ปี ขึ้นไปลงในปีหน้า 4. ค่าเงินบาท ทิศทางค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่า โดยคาดว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงสู่ระดับ 36.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปีนี้ และอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในสิ้นปี 2559 การอ่อนค่าของเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว และจะกระทบกับคนไทยที่ต้องการใช้จ่ายเงินในต่างประเทศเช่น กลุ่มผู้ที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ นักท่องเที่ยวชาวไทย หรือกลุ่มผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ที่จะต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น 5. Mega Trend ที่สำคัญในปี 2559 · Regional Integration · Internet of Thing (IoT) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภายในปี 2563 อุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะเชื่อมต่อกันผ่านอินเตอร์เน็ตได้ จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 32 พันล้านชิ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ ปัจจุบัน IoT ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศได้เริ่มพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อให้บริการด้านสาธารณสุข เช่น จัดไฟแสงสว่างสำหรับอาคารสถานที่ การควบคุมการจราจร รวมไปถึงการวัดการหกล้มและการดูแลอย่างอัจฉริยะสำหรับผู้ป่วย เป็นต้น ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่เริ่มพัฒนาออกมารองรับ เช่น wristband ที่เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟน ทำให้ผู้สวมใส่สามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับระบบต่างๆ ภายในรางกาย และข้อมูลนี้อาจส่งต่อไปยังแพทย์ได้แบบทันทีหากเกิดอาการความดันโลหิตสูง แพทย์ก็สามารถเขียนใบสั่งยาให้ได้ทันที พร้อมกับจัดส่งยามาถึงบ้านผู้ป่วยได้ในภาย 24 ชั่วโมง หรือตู้เย็นที่สามารถปรับอุณหภูมิได้ด้วยตนเองตามประเภทอาหารที่แช่ และสามารถส่งสัญญาณแจ้งเตือนได้ว่าวัตถุดิบใดที่ใกล้จะหมดแล้ว · "แก่-จน-เป็นหนี้" โครงสร้างประชากรมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปในลักษณะ "แก่-จน-เป็นหนี้" กล่าวคือ 1) Aging Society ประเทศไทยจะเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society)" ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า หมายถึงสังคมที่มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรโดยรวมทั้งประเทศ หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรโดยรวมทั้งประเทศ คำถามที่ตามมาคือ ภาพรวมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ภาครัฐจะเตรียมความพร้อมด้านสวัสดิการสังคมได้อย่างเพียงพอหรือไม่ ธุรกิจที่อาจเกิดใหม่เพื่อรองรับตลาดผู้สูงอายุจะมีทิศทางอย่างไร และเราจะเตรียมรับมืออย่างไร โดยเฉพาะการวางแผนเกษียณสำหรับตัวเอง 2) Labor Mismatch Problem หรือ ปัญหาแรงงานที่จบการศึกษาไม่ตรงตามความต้องการของตลาด จากสถิติ กว่า 80% ของผู้จบการศึกษาใหม่ในแต่ละปี อยู่ในสาขาที่เผชิญปัญหาแรงงานล้นตลาด ยกตัวอย่างเช่น ตลาดแรงงานต้องการผู้ที่จบการศึกษาด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Programmer) ในขณะที่นักศึกษาจบใหม่ส่วนใหญ่ แม้จะจบมาในสาย IT แต่เป็นการเรียนด้าน IT Strategic ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นต้น 3) Household Debt หรือ การก่อหนี้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง สาเหตุหลักที่ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยสูงขึ้นมาจากหลายปัจจัย เช่น นโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกของภาครัฐ ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำซึ่งเอื้อต่อการก่อหนี้ ความต้องการกู้ยืมเพื่อซ่อมแซมหลังน้ำท่วมปี 2554 และการแข่งขันปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงิน จากภาพรวมทิศทางเศรษฐกิจในปีหน้า ถือว่ามีแนวโน้มดีกว่าปี 2558 แต่ต้องอยู่บนความระมัดระวัง จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ คำแนะนำสำหรับการจัดการเงินอาจกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้ · การออม คาดว่าราคาค่าครองชีพมีแนวโน้มสูงขึ้น จากราคาอาหารที่แพงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากภัยแล้งในประเทศ แนะนำให้เก็บเงินให้มากขึ้น หรืออย่างน้อยควรมีการกันเงินสำรองเผื่อเหตุฉุกเฉินไว้ที่ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำต่อเดือนของครอบครัว · การลงทุน สำหรับการลงทุนในประเทศ ยังได้รับแรงหนุนจากกองทุน LTF ที่มีการต่อนโยบายการลดหย่อนภาษีออกไป โดยภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มที่ดี แต่อาจไม่ร้อนแรงเท่า 2-3 ปีที่ผ่านมา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังค่อนข้างจำกัด โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตได้ อาทิ ก่อสร้าง ขนส่ง สื่อสารโทรคมนาคม ส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น ทั้งนี้ แนะนำให้มีการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ และแนะนำให้ลงทุนในตลาดสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง · การกู้ / ขอสินเชื่อ จากทิศทางดอกเบี้ยในปีหน้า ผู้ที่กำลังจะการขอสินเชื่อใหม่หรือ Refinance แนะนำให้เลือกสินเชื่อที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ · การวางแผนเกษียณ ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society)" หมายถึงสังคมที่มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรโดยรวมทั้งประเทศ หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรโดยรวมทั้งประเทศ ดังนั้น แนะนำให้เริ่มวางแผนจัดการเงินเพื่อเกษียณ โดยจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมด้วยเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ทั้งการออม ลงทุน และประกันชีวิต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ