กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าลุยปั้นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสนับสนุน เพื่อส่งเสริม 6 ซูเปอร์คลัสเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้แก่ 1. คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน 2.คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม 3. คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4. คลัสเตอร์ดิจิทัล 5. คลัสเตอร์นวัตกรรมด้านอาหาร และ 6. คลัสเตอร์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical hub) พร้อมเตรียมทุ่มงบกว่า37 ล้านบาท วางแผนส่งเสริมผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมสนับสนุน โดยจะนำร่องพัฒนา 2 คลัสเตอร์สำคัญแบบครบวงจร คือ คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน และคลัสเตอร์เครื่องมือทางการแพทย์และสุขภาพ ภายใต้โครงการหลัก อาทิ โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แห่งอนาคต โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งคาดว่าจะมีอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้าสู่อุตสาหกรรมสนับสนุนไม่น้อยกว่า 150 รายหรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลในการมุ่งขับเคลื่อนคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพและมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต (Super Cluster) ประกอบด้วย1.คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน 2. คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม 3. คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4. คลัสเตอร์ดิจิทัล 5. คลัสเตอร์นวัตกรรม ด้านอาหาร และ 6. คลัสเตอร์เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical hub) ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการSMEs ทั่วประเทศอย่างครบวงจรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นข้อต่อให้กับอุตสาหกรรมหลักและเชื่อมโยงกับแต่ละสาขาของอุตสาหกรรมของประเทศ เช่น ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ หรือผู้ผลิตเครื่องจักร เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs ในภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนกว่า 400,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นของคนไทย แต่พบว่ายังประสบปัญหาการกดดันด้านต้นทุนราคาเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนหรืออะไหล่ทดแทน ซึ่งเป็นผู้รับจ้างผลิตหรือผู้ผลิตแบรนด์สินค้าของตนเอง (OEM/REM) และจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มากนัก รวมถึงการบริหารจัดการทั้งในด้านการผลิต การตลาด ทักษะแรงงาน และเงินทุน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของ SMEs ดังนั้น การส่งเสริมผู้ประกอบการจึงต้องวางแผนอย่างเป็นระบบครอบคลุมจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งในมิติของการเพิ่มระดับผลิตภาพ อาทิ เทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการ หรือระบบคุณภาพที่เป็นมาตรฐาน รวมทั้งการส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปแบบคลัสเตอร์เพื่อให้เกิดการสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
ดร.สมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า กสอ. ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อเป็นส่วนเติมเต็มและแก้ปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการ โดยในปี 2558 กสอ. ได้ดำเนินโครงการที่หลากหลายเพื่อพัฒนาสถานประกอบการและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสนับสนุน จำนวน 9 โครงการ ด้วยงบประมาณกว่า 23 ล้านบาท สามารถพัฒนาสถานประกอบการจำนวน 155 กิจการ และพัฒนาบุคลากรจำนวน 3,600 คน ประกอบด้วย 1.โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต 2.โครงการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ทดแทน 3.โครงการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ SMEs ด้วยระบบ Lean 4.โครงการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมสู่ผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม 5.โครงการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ AEC 6.โครงการพัฒนาเครื่องจักรและยกระดับเทคโนโลยีการผลิตของ SMEs 7.โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีวิศวกรรมสู่ผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม 8.โครงการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม และ 9.โครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตด้านกระบวนการจัดการ Logistics and Supply Chain ซึ่งผลการดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท รวมถึงได้เครื่องต้นแบบเครื่องจักรจำนวน 14 เครื่อง โดยผู้ประกอบการสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการในการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพได้อีก 1 กลุ่ม ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการในการหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ผลงาน การจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ อย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งรูปแบบการจัดนัดหมายการจับคู่เจรจาและการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ภายใต้เว็บไซต์ J-GoodTech ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ)
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในปี 2559 นี้ กสอ.จะดำเนินการต่อยอดโครงการที่มีอยู่เดิมและดำเนินโครงการใหม่ ด้วยงบประมาณกว่า 37 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนอีกกว่า 300 กิจการ 1,100 คน อย่างครบวงจร ใน 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต 2.โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม(Cluster) ชิ้นส่วนยานยนต์ 3.โครงการพัฒนาขีดความสามารถ OEM/REM และ 4.โครงการส่งเสริมการใช้โปรแกรมCAD/CAM/CAE ในสถานประกอบการ ในลักษณะการบูรณาการการทำงานแบบ 3 ประสาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย โดยมีภารกิจเชิงนโยบายและเชิงกำกับดูแล เชิงตรวจสอบ และเชิงปฏิบัติ การเชื่อมโยงการดำเนินกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายหน่วยบริการด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสนับสนุน นอกจากนี้ ยังได้มีการดำเนินโครงการพิเศษนอกงบประมาณร่วมกับหน่วยงาน สมาคม และสถาบัน เพื่อขยายความร่วมมือและส่งเสริมการดำเนินโครงการตามแนวทางงบประมาณ คาดว่าจากการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ จะสามารถช่วยผู้ประกอบการให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 15 และคาดว่าจะมีอุตสาหกรรมใหม่ ๆเข้าสู่อุตสาหกรรมสนับสนุนไม่น้อยกว่า 150 ราย หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท ดร.สมชาย กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจโครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-17 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr