กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
หลังประสบความสำเร็จจากการจัดทำโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการรุ่นที่ 1 เมื่อปีที่ผ่านมา และในปี 2558 นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ยังเดินหน้าจัดทำ "โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ รุ่นที่ 2 ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการเป็นปีที่ 2 โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน และสิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายน 2558 (รวมระยะเวลา 6 เดือน ) มีคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมและฝึกงานในโครงการครั้งนี้จำนวนทั้งสิ้น 25 คน
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การทำงานกับคนพิการถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่มหาวิทยาลัยทำงานร่วมกับชุมชนและสังคม รวมถึงผู้ด้อยโอกาสและคนพิการมาอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการที่ในปีนี้ถือเป็นการดำเนินโครงการติดต่อกันมาเป็นปีที่ 2 ทำให้ได้เรียนรู้ถึงความต้องการของคนพิการมากขึ้น เพราะคนพิการไม่ใช่เพียงแค่ต้องการเพิ่มสมรรถนะความสามารถเท่านั้น แต่ยังต้องการสร้างความมั่นใจ สร้างความสามารถในการสื่อสาร และสร้างความเข้าใจเรื่องของอารยสถาปัตย์ซึ่งยังเป็นช่องว่างที่เราจะต้องทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น และอื่นๆ อีกหลายด้าน ที่เราต้องค้นหาและพยายามเสริมความต้องการนั้นเข้าไป นอกจากนี้ยังเป็นตัวอย่างของการพัฒนานักศึกษาในแง่ของความคิดความอ่านได้ดีขึ้น ทำให้อาจารย์และนักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมและเข้าใจคนพิการมากขึ้น ถือเป็นกิจกรรมที่ทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยจะได้เข้ามามีส่วนร่วมและทำให้เกิดผลที่ดีร่วมกันและโครงการนี้ยังเป็นกลไกที่จะทำให้นักศึกษาได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนพิการ คนทำงานและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามการทำงานกับคนพิการนั้นยังเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เข้าใจมิติของชุมชนคนพิการมากขึ้นและนำมาปรับปรุงพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับคนพิการรุ่นที่ 3 ต่อไป คาดว่า แนวโน้มจะมีคนพิการที่สนใจเข้าร่วมอบรมเพิ่มขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดของบุคลากรและสถานที่รองรับ ทำให้ การรับคนพิการเข้าร่วมโครงการฯ จำกัดได้เพียง 30 คนสำหรับในปี 2559
สำหรับโครงการในรุ่นที่ 2 มีการปรับปรุงการดำเนินงานทั้งขั้นตอนการคัดเลือกคนพิการ และหลักสูตรของการฝึกอบรม โดยได้จัดหลักสูตรเพิ่มนอกเหนือจากการให้ความรู้วิชาพื้นฐานทั่วไปแล้วยังได้จัดหลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน เนื่องจากปีที่ผ่านมาพบว่า คนพิการที่จบโครงการไปส่วนใหญ่จะทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน ซึ่งเหมาะสมกับศักยภาพของคนพิการที่สามารถทำได้ และยังเป็นตำแหน่งงานที่บริษัทเอกชนมีความต้องการมากที่สุด ทางโครงการฯ จึงได้จัดให้มีหลักสูตรดังกล่าวขึ้น เพื่อให้คนพิการเมื่อจบออกไปสามารถมีงานทำได้มากขึ้น โดยการดำเนินโครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 จากสถานประกอบการ 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท ดานิลี่ จำกัด บริษัท ศรีไทยมิยากาวา จำกัด บริษัท มาราธอน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เสถียรอุตสาหกรรม จำกัด โดยมีคนพิการเข้าร่วมโครงการ 25 คน แบ่งเป็น คนพิการด้านการเคลื่อนไหว 24 คน และคนพิการด้านสติปัญญา 1 คน ซึ่งโครงการจัดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน 2558 แบ่งเป็นการฝึกอบรม 4 เดือน และการฝึกงาน 2 เดือน
ในการฝึกอบรมครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ทั่วไปด้านวิชาการ ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์เบื้องต้น และพื้นฐานการปรับตัวเข้ากับสังคม โดยปีนี้ได้เพิ่มทักษะด้านโซเซียลเน็ตเวิร์คให้กับคนพิการได้เรียนรู้วิธีการทำคลิปวีดิโอและวิธีการเผยแพร่ผ่าน You Tube เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพได้ เช่น การขายของออนไลน์ รวมถึงความรู้พื้นฐานงานสำนักงาน (วิชาชีพ) ส่วนการฝึกงานมีจุดประสงค์เพื่อให้คนพิการได้พัฒนาศักยภาพตนเองในเรื่องการทำงาน และได้มีโอกาสเพิ่มพูนประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้อื่นในองค์กร ซึ่งจะทำให้คนพิการมีความรู้ ความสามารถและมีความมั่นใจในการประกอบอาชีพมากขึ้น ทั้งนี้ในปี 2558 มีหน่วยงานภายใน มจธ.รับคนพิการในโครงการเข้าฝึกงานรวมกว่า 15 หน่วยงาน
ดร.บุญนาค โมกข์มงคลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดานิลี่ จำกัด หนึ่งในผู้ให้การสนับสนุนหลักการจัดทำโครงการฝึกอบรมฯ กล่าวว่า "การดำเนินโครงการฯ ในปี้นี้มีความพิเศษคือ การจัด "หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานสำหรับคนพิการ "ขึ้นเป็นครั้งแรกและได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากกระทรวงแรงงานเรียบร้อยแล้ว เพราะเป็นหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่จะรับคนพิการเข้าทำงานในถานประกอบการ ทำให้คนพิการที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรดังกล่าวก็จะสามารถออกไปหางานทำได้จริง ส่วนผลการดำเนินโครงการฯในปีนี้ ถือว่าได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก เพราะหลังเสร็จสิ้นโครงการฯ พบว่า มีผู้ประกอบการเอกชนและหน่วยงานหลายแห่งขอรับเข้าทำงานเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า ระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คนพิการที่มาเข้าร่วมโครงการฯ สามารถพัฒนาทักษะทั้งด้านวิชาการ และด้านการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆได้เป็นอย่างดี เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ต้องการให้สังคมได้รับรู้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น"
นายณรงค์ โกสิงห์ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวจากอำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร เล่าว่า หลังประสบอุบัติเหตุรถชนเมื่อ 12 ปีก่อน ทำให้เป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่างเคลื่อนไหวไม่ได้ชีวิตก็อยู่แต่ในบ้านไม่กล้าออกไปไหนและไม่สุงสิงกับใครมานานหลายปี รู้สึกอายเพราะสภาพความพิการของตนเอง จึงได้ใช้วิชาช่างซ่อมทีวีที่เรียนมาหาเลี้ยงชีพแต่ปัจจุบันไม่มีใครนำทีวีมาซ่อมกันแล้วทำให้ไม่มีรายได้จึงตัดสินใจออกจากบ้านเดินทางมาเข้าร่วมอบรมในโครงการนี้ เพื่อหาความรู้และกลับไปหางานทำที่บ้านเกิด และจากที่มาเข้าอบรมต้องอยู่นอกบ้านนาน 6 เดือนทำให้เปลี่ยนความคิดที่ว่าชีวิตนี้ไม่มีอนาคต ไม่มีงานทำแล้ว พอมาที่นี่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและมั่นใจว่ากลับไปเรามีงานทำแน่นอน โดยเฉพาะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ซึ่งคิดว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงเนื่องจากมีงานด้านเจ้าหน้าที่สำนักงานรองรับอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนนั้นเราเองยังไม่มีทักษะพื้นฐานเรื่องของคอมพิวเตอร์และระบบการทำงานในสำนักงาน เมื่อได้เกิดความคุ้นชินจากการฝึกงานเชื่อว่าสามารถกลับไปทำงานที่บ้านเกิดได้
นายณรงค์ กล่าวอีกว่า " ชีวิตคนพิการนั้น หากเราต้องการความรู้มากขึ้น เราจะต้องรู้จักการปรับตัว ยอมรับว่าการมาเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้ได้ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกช่วยให้เรามีโลกทัศน์กว้างขึ้น รู้จักการปรับตัว และเข้มแข็งขึ้น โครงการนี้นอกจากช่วยพัฒนาด้านทักษะต่างๆแล้ว ยังช่วยสร้างความกล้าในตัวเรามากขึ้นด้วยและตอนนี้เราก็สามารถทำอะไรๆได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ... เพราะนอกจากการฝึกอบรมในห้องเรียนแล้วยังฝึกให้เราได้ออกไปใช้ชีวิตในสถานที่ต่างๆ เหมือนคนปกติ ครั้งหนึ่งได้ทดลองเดินทางด้วยตัวเอง ทำให้ได้เห็นน้ำใจของผู้คนที่มีต่อคนพิการ สร้างความประทับใจให้กับตนเองมาก โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดีมากมีหลักสูตรครอบคลุมความต้องการทุกด้าน
ให้กับคนพิการทั้งด้านวิชาการ ด้านการปรับตัว ด้านสังคมและด้านการใช้ชีวิต รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการที่มาร่วมโครงการ ที่สำคัญเป็นโครงการที่จัดให้มีทั้งการฝึกอบรมและได้เข้าไปฝึกงานในสถานที่ทำงานจริง ทำให้เราได้ทดลองทำงานจริงๆ ว่าเราทำงานเป็นอย่างไรเพราะการทำได้ลงมือทำจะทำให้จดจำได้มากกว่า อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้เราได้ค้นพบตัวเองด้วยว่าคนพิการก็สามารถทำงานได้ สามารถเลี้ยงและดูแลตัวเองได้ อยากให้มีโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะยังมีเพื่อนผู้พิการอีกจำนวนมาก หากมีโอกาสเข้ามาอบรมจะสามารถนำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพหางานทำได้"
ส่วนนางสาวภัชรา โพธิสิงห์ (น้องตั๊ก) หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวยอมรับว่า แม้จะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจมาก่อนแต่หลังจากเรียนจบมาก็ยังไม่มีงานทำ ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและความพิการของตนเอง ทำให้เครียดมาก แต่พอได้เข้าร่วมโครงการนี้รู้สึกได้ว่าตนเองนั้นโตขึ้นมากได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง จากคนที่คอยรับความช่วยเหลือกลายมาเป็นฝ่ายให้ความช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่จะช่วยได้ รู้จักการแบ่งปัน มีสติมีสมาธิมากขึ้น รู้จักคิดก่อนพูด ต่างจากเมื่อก่อนที่มักเอาแต่ใจอยากพูดอะไรก็พูดไม่ค่อยเกรงใจใคร ยอมรับว่ามีความสุขที่ได้มาอบรมที่นี่ ที่สำคัญยังทำให้ได้เพิ่มทักษะการใช้ชีวิตให้สามารถไปอยู่ที่ไหนก็ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ยึดติดอยู่กับแต่ที่บ้าน โครงการนี้สอนเราหลายอย่างที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการอบรมทักษะในการเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องโครงสร้างวัฒนธรรมองค์กรและการปรับตัว ถือเป็นทักษะที่ตนเองนั้นได้จากการอบรมครั้งนี้ ส่วนหลังจากนี้มีแผนที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาโททางด้านบริหารตามที่ใฝ่ฝันพร้อมกับการทำงานไปด้วย
มจธ. รับคนพิการจากโครงการดังกล่าวเข้าทำงาน จำนวน 4 คน และรับนักศึกษาที่เป็นคนพิการมากกว่า 3 คน และในอนาคตมีแผนดำเนินการออกแบบปรับปรุงอาคารและสภาพแวดล้อมโดยใช้หลักการออกแบบอาคารให้คนพิการเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่า อารยสถาปัตย์