ม.ธรรมศาสตร์ มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 ท่าน

ข่าวทั่วไป Tuesday July 17, 2001 13:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--ม.ธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 ท่าน ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2543วันที่ 26 กรกฎาคม 2544
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 ท่าน ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2543 วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2544 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนี้
1. ศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร จุฬารัตน ปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปริญญาเอกทางกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยโรม ประเทศอิตาลี วุฒิบัตรการศึกษาอบรมหลักสูตรนักปกครอง ระดับสูงจากวิทยาลัยการปกครองระดับสูง กระทรวงมหาดไทย วุฒิบัตรจากสถาบัน วิชาการทหารบกชั้นสูง กองทัพบก ปริญญาบัตรจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร เริ่มสอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งตั้งแต่ พ.ศ. 2512 จนได้รับการแต่งตั้งเป็น ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังอุทิศเวลาให้กับงานพัฒนา มหาวิทยาลัยและงานพัฒนาวิชาการ เป็นผู้ผลักดันโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสำนักงานกฤษฎีกาและภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งต่างๆ ทางราชการ และกรรมการในองค์การต่างๆ หลายองค์การ อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ในการเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญถึง 2 ฉบับ และยังเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
2. ศาสตราจารย์ ศุภชัย พิศิษฐวานิช บัญชีดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สำเร็จการศึกษา ด้านการบัญชีและด้านพาณิชยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านการบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ ผ่านการอบรมหลักสูตร การป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรนักบริหารระดับสูง จากสำนักงาน ก.พ. ฯลฯ เป็นผู้บริหารระดับสูงในภาครัฐ ตำแหน่งรับราชการสูงสุด คือ อดีตปลัดกระทรวง การคลัง ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ศาสตราจารย์ ศุภชัย ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และรักษา ประโยชน์ให้แก่แประเทศชาติอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การคลังของประเทศ ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจไปได้ด้วยดี นอกเหนือจาก หน้าที่ราชการประจำ ยังได้สละเวลาเป็นผู้บรรยายพิเศษ ระดับปริญญาตรีและโท มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา และยังเป็นประธานโครงการสร้างพระ ธรรมศาสตร์ รุ่นสร้างหอพระศูนย์รังสิต เป็นอดีตนายกสมาคมธรรมศาสตร์ฯ 2 สมัย
3. นางขนิษฐา เทวินทรภักติ สังคมสงเคราะห์ศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สำเร็จการศึกษาสังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ M.S. Recreation Therapy มหาวิทยาลัย Pittsburgh State University U.S.A. ประกาศนียบัตรการศึกษาอบรม ผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการจากรัฐบาลญี่ปุ่น และ หลักสูตรอื่นๆ อีกจำนวนมาก โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นางขนิษฐา ได้อุทิศตนทำงาน ด้านสวัสดิการสังคม และสังคมสงเคราะห์ด้วยความทุ่มเท เสียสละ ซื่อสัตย์สุจริต มีความคิดริเริ่ม พัฒนาสร้างสรรค์ และพัฒนารูปแบบงานสังคมสงเคราะห์ได้สอดคล้อง เหมาะสม เป็นผู้มีส่วนยิ่งในการผลักดันนโยบาย กฎหมายด้านสังคมสงเคราะห์หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.การ ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 เป็นต้น รวมทั้งยังเป็นผู้ผลักดัน โครงการเพื่อส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิ และคุณภาพชีวิตของกลุ่มต่างๆ ทั้งยังเป็นอาจารย์ พิเศษและวิทยากรในสถาบันอีกหลายสถาบัน รวมถึงที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ทั้งระดับปริญญาตรีและโทด้วย
4. นางวิจิตร ระวิวงศ์ พัฒนาแรงงานและสวัสดิการดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศนียบัตร การบริหารแรงงานจากกระทรวงแรงงาน สหราชอาณาจักร M.S.W. (Social Organization) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เบอร์คเล่ย์ สหรัฐอเมริกา รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาบริหารแรงงาน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางวิจิตร เป็นอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. รวมเวลา 25 ปี และปัจจุบัน ยังคงเป็นกรรมการ คณะทำงาน ร่วมงานวิจัยและงานสอนอย่างสม่ำเสมอ เป็นผู้ที่ได้รับ การยอมรับในแวดวงวิชาการด้านแรงงาน สวัสดิการสังคม การประกันสังคม การพัฒนาสตรีเด็ก เยาวชน ผู้พิการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการประยุกต์ ใช้หลักวิชาในการส่งเสริมให้ชุมชนในชนบทมีศักยภาพ ในการพัฒนางานอาชีพ ในระดับท้องถิ่น และมีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ซึ่งแม้ว่าลาออกจากราชการแล้ว ยังคงทำงานบริการสังคมและงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการศึกษาวิจัย เพื่อสะท้อนประเด็นปัญหาทางสังคม ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข และป้องกัน
5. นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาภาษาไทย) สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมดี (สาขาประวัติศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นผู้ทรงภูมิรู้อย่างกว้างขวาง และลุ่มลึก ทางวรรณกรรม เป็นนักคิด นักเขียน กวี นักวิจารณ์ บรรณาธิการ และเป็นครู ผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงวรรณกรรมไทย สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมจำนวนมาก และหลากหลายลักษณะ โดยได้ใช้วรรณกรรมช่วยชี้นำสังคม และให้แนวทาง เพื่อประโยชน์ส่วนรวม นอกจากนี้ ยังรับภาระอุทิศตนทุ่มเทเพื่อสร้างนักคิด นักเขียนรุ่นใหม่ เห็นได้จากเป็นผู้คิดพิจารณาให้รางวัล "ชช่อการะเกด" "ชช่อปาริชาติ" แก่เรื่องสั้นคัดสรร ทั้งยังเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ และผลงานวรรณกรรมไทยให้แก่ ชาวต่างประเทศ ผู้สนใจในระดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง
6. พระเทพโสภณ (ประยูร ธมมจิตโต) ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชา ปรัชญาและศาสนา) เปรียญธรรม 9 ประโยค จากสำนักเรียนวัดประยุรวงศาวาส พธ.บ. สาขาปรัชญา (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย M.A สาขาปรัชญา และ Ph.D. สาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย ปัจจุบันเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเป็นอาจารย์บรรยาย พิเศษในระดับปริญญาตรี-โท-เอก ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ขณะเดียวกัน ท่านได้ทำงาน ด้านการปกครอง งานจัดการศึกษา งานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา งานบรรยาย เทศนา และปาฐกถาธรรม งานผลงานวิชาการ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
7. นายซุซุมิ มะซุโอ วารสารศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สำเร็จการศึกษาจาก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิปปอน กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และได้เริ่มศึกษา ด้านศาสนาพุทธอย่างจริงจัง จนเป็นผู้นำทางด้านศาสนาขององค์กรอะกอนซู ซึ่งไม่เพียงเป็นผู้ทรงความรู้ด้านศาสนาเท่านั้น ยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ การสื่อสารด้วย โดยนำความรู้ด้านการสื่อสารมาผนวกเข้ากับความก้าวหน้า ทางด้านเทคโนโลยีที่ไม่หยุดยั้ง มาใช้ในการเผยแผ่ศาสนาได้อย่างเหมาะสม อันนำมาซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยิ่ง ซึ่งจากความรู้ความเข้าใจ ในประสิทธิภาพด้านการสื่อสาร ทำให้ได้รับการยกย่องทั้งในประเทศญี่ปุ่นและทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือแก่สังคม และวิชาการทางด้านการสื่อสาร ในเกือบทุกทวีปมาโดยตลอด รวมทั้งคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. จนทำให้คณะสามารถพัฒนา เจริญก้าวหน้าและเป็นผู้นำทางด้านการสื่อสารมวลชน อย่างเด่นชัด
8. อาจารย์ นายแพทย์ อุดม ลักษณวิจารณ์ แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ Dr.med. ทาง Psychiatry จาก University of Heidelberg เยอรมนี อนุมัติบัตร (จิตเวชศาสตร์) จากแพทยสภา ป.หลักสูตรพัฒนา นโยบายของรัฐ และพัฒนานักบริหารระดับสูง จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หลังเกษียณอายุราชการ ปัจจุบันยังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ และเป็นอาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษ รวมทั้งดำรงตำแหน่งกรรมการ ด้านวิชาการอีกหลายชุดในคณะแพทยศาสตร์ มธ. ซึ่งมีบทบาทในการช่วยกำหนด ทิศทางของคณะแพทยศาสตร์อย่างมาก งานสำคัญคือ การช่วยเตรียมการให้คณะมี หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และการฝึกอบรมแพทย์ ประจำบ้าน มุ่งหวังให้บัณฑิตมีคุณสมบัติตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประเสริฐ ทองเจริญ วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาชีวเวชศาสตร์) สำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก ประกาศนียบัตรเวชศาสตร์เขตร้อน และปาราสิตวิทยา ทางการแพทย์ สถาบันเวชศาสตร์เขตร้อน Bemrnhard-Nocht Instimt ฮัมบวร์ก และปริญญาบัตรจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็นนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์และสาธารณสุขที่เชี่ยวชาญ มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และเมื่อปี 2537 มธ. ประสงค์จะขยายการเรียนการสอน ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพขึ้นที่ศูนย์รังสิต และสภามหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประเสริฐ เป็นประธานโครงการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ ซึ่งท่าน ได้เสียสละเวลาทำงานจนสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยปี 2539 คณะสหเวชศาสตร์ ได้รับอนุมัติ ให้จัดตั้งและเริ่มรับนักศึกษาสาขาเทคนิคการแพทย์เป็นรุ่นแรก และเริ่มรับสาขา กายภาพบำบัดในเวลาต่อมา จนในปี 2544 คณะสามารถเริ่มรับนักศึกษาระดับ ปริญญาโทและเอก สาขาชีวเวชศาสตร์ เป็นรุ่นแรก--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ