กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ด้วยการแข่งขันในตลาดโลกทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในมิติต่างๆ ทั้งที่เป็นแนวโน้มระดับโลก เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และที่เป็นทิศทางของภูมิภาค เช่น การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไทยจึงจำเป็นต้องช่วงชิงความได้เปรียบในเวทีโลกด้วยการสร้างสรรค์สินค้าอุตสาหกรรมให้สอดรับกับปัจจัยภายนอก
โจทย์สำคัญในการรักษาฐานการผลิตจึงเป็นการยกระดับผู้ประกอบการไทยไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมเข้มข้นและสอดรับกับพลวัตโลก จึงต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนแนวคิดการจำแนกอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ ตามวัตถุดิบขั้นต้นน้ำ มาเป็นการบูรณาการนโยบายสนับสนุน "กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่" หรือ New S-Cove ที่มีอนาคตสดใสในระดับโลกและภูมิภาคอย่างจริงจัง
หลักฐานเชิงประจักษ์บ่งชี้ว่า เมื่อประเทศรายได้ปานกลางยกระดับไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยฐานความรู้ ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิตจะมีสัดส่วนในมูลค่าเพิ่มและกำลังแรงงานโลกลดลง โดยในปี 2553 เหลือเพียงร้อยละ 10-12 จากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ตรงข้ามกับภาคบริการมีส่วนแบ่งสูงสุด อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา นัยของปรากฎการณ์นี้ คือ ประเทศพัฒนาแล้วได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่ ที่มีการบูรณาการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและเป็นองค์รวม ทำให้เส้นแบ่งระหว่างภาคการผลิตและภาคบริการมีแนวโน้มเลือนหายไป แม้แต่ในภาคอุตสาหกรรม กระบวนการที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากที่สุด ไม่ใช่ขั้นตอนการผลิตสินค้าในขั้นกลางน้ำ แต่เป็นการสร้างนวัตกรรมและการออกแบบในขั้นแรกเริ่มและการตลาดและการให้บริการหลังการขายในขั้นปลาย หรือสร้าง New S-Cove ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภาคการผลิตสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมลดการพึ่งพาแรงงานได้
ดังนั้น นัยต่อประเทศผู้รับจ้างผลิต คือ การปรับตัวเพิ่มบทบาทขั้นตอนก่อนและหลังการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น การผลิตสินค้าสำหรับตลาดเฉพาะทางมากขึ้น รวมทั้งการปรับกระบวนทัศน์หรือต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่ "กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่" ที่เชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าสูงระหว่างภาคการผลิตกับภาคเกษตรและภาคบริการมากขึ้น เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยปัจจัยสู่ความเร็จ คือ "นวัตกรรม" เพราะผลการศึกษาจากหลายแห่งชี้ชัดว่า นวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมสร้างผลพลอยได้ต่อภาคส่วนอื่นๆ
ด้วยเหตุนี้ การบูรณาการยุทธศาสตร์ประเทศภายใต้กรอบการสร้างฐานเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในประเด็น การกำหนดและส่งเสริม "อุตสาหกรรมอนาคต" ด้วยเล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการผันผวนภายนอก โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา และความคิดสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้าง New S-Cove
แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการกำหนดและส่งเสริม "อุตสาหกรรมอนาคต" ดังกล่าวสะท้อนทิศทางการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ จากในอดีตที่มุ่งส่งเสริมปัจจัยแวดล้อมในการพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นการพิจารณา "อุตสาหกรรมใหม่" ที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นให้กับประเทศ
หากรัฐปล่อยให้กลไกตลาดทำงานโดยไม่จำเป็นต้องกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมที่ชัดเจน มือที่มองไม่เห็นจะกระตุ้นให้ภาคธุรกิจปรับตัวตามวิวัฒนาการ บางสาขาที่ใช้แรงงานเข้มข้นอาจจำเป็นต้องขยับขยายฐานการผลิตไปสู่บ้านใกล้เรือนเคียง ในทางตรงข้าม หากผู้ประกอบการสามารถยกระดับพื้นฐานทางนวัตกรรม ก็จะสามารถไต่ขึ้นบันไดห่วงโซ่มูลค่าที่สูงขึ้นอย่างเข้มแข็ง หรือสร้างระดับการเพิ่มมูลค่าสูงได้ทุกกระบวนการผลิตตลอดการเชื่อมโยงของสินค้าและบริการ และปรับสถานะของตนเองจากแค่ผู้รับจ้างผลิตไปเป็นผู้ออกแบบและหรือเจ้าของตราสินค้าได้
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยอีกว่า สศอ. ในฐานะผู้กำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ จึงดำเนิน "โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคตไทย วิสัยทัศน์ใหม่สู่ AEC" เพื่อนำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคตที่ได้จากการดำเนินโครงการฯ มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการชี้นำและขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมอนาคตในรูปแบบคลัสเตอร์ระดับภูมิภาคสู่การปฏิบัติและบรูณาการระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทย เป็นเอกภาพและยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายหลักในยุทธศาสตร์ประเทศและแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย (2555-2574) ซึ่งกำหนดให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตและจัดการเครือข่ายการผลิตของอาเซียน
โดยกำหนดให้ "อุตสาหกรรมอนาคต เป็นการต่อยอดฐานอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ควบคู่กับการใช้ประโยชน์จากทุนในประเทศ เพื่อนำไปสู่การผลิตกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองทิศทางความต้องการ (อุปสงค์) ในระดับโลกและภูมิภาคได้มากยิ่งขึ้น ยกระดับขีดความสามารถของผู้ผลิตในห่วงโซ่มูลค่าภาคอุตสาหกรรมไทย และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน"
อุตสาหกรรมอนาคต สามารถจำแนกออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล 2. กลุ่มวัสดุสีเขียว อาทิ พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ ชีวภาพ สิ่งทอสีเขียว วัสดุก่อสร้างซึ่งใช้วัตถุดิบทางการเกษตรและของเหลือใช้ (รีไซเคิล) 3. กลุ่มสุขภาพ ได้แก่ เภสัชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 4. กลุ่มหลอมรวมเทคโนโลยี เช่น การผลิตแบบเพิ่มเติม หุ่นยนต์อัจฉริยะ ไมโครและนาโนอิเล็กทรอนิกส์ การป้องกันประเทศ และ 5.กลุ่มยานพาหนะ อาทิ ยานยนต์สะอาด ระบบราง อากาศยาน การต่อเรือ ซึ่งหลายกลุ่มสามารถใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตเกษตรแปรรูปของไทย และพึ่งพาอาศัยการเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เป็นจุดที่ไทยยังต้องเร่งการพัฒนาเพิ่ม กับทุนทางธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรมที่เป็น ข้อได้เปรียบภายในประเทศที่มีอยู่ของไทย
โดย สศอ. ได้ทำการวิเคราะห์และประเมินศักยภาพการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอนาคตทั้ง 5 กลุ่ม และเปรียบเทียบศักยภาพของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตจาก 5 มิติ โดย 2 มิติเป็นการเปรียบเทียบเชิงปริมาณ ได้แก่ มิติขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย และมิติศักยภาพในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 6 ประเทศที่มีพรมแดนทางบกและน้ำกับไทย ได้แก่ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
จากการประเมินดังกล่าว พบว่า ไทยแข่งขันได้ดีในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต ได้แก่ กลุ่มวัสดุสีเขียว (พลาสติก) กลุ่มหลอมรวมเทคโนโลยี (เครื่องจักรกลและอิเล็คทรอนิกส์ ) และกลุ่มยานพาหนะ (ยานยนต์) แม้ว่าจะเริ่มสูญเสียความได้เปรียบให้ประเทศเพื่อนบ้านในบางสาขาอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า มาเลเซียแข่งขันได้ดีในกลุ่มพลังงานสะอาด (เซลล์แสงอาทิตย์) ส่วนเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนามแข่งขันได้ดีในขั้นปลายน้ำของกลุ่มวัสดุสีเขียวบางประเภท (เครื่องนุ่งห่ม) จึงสรุปได้ว่าไทยและประเทศเพื่อนบ้านเก่งกันคนละทิศคนละทาง การผลิตจึงน่าจะมีลักษณะของการเกื้อหนุนมากกว่าการทดแทนกัน มีแต่เพียงในสาขาอิเลกทรอนิกส์ ที่ไทยแข่งขันได้ดีและมีมาเลเซียกับเวียดนามเป็นคู่แข่งโดยตรง ผลยังปรากฏอีกว่า กลุ่มวัสดุชีวภาพได้รับการประเมินศักยภาพสูงสุดเพราะไทยแข่งขันได้ดี ไทยเป็นผู้ส่งออกสุทธิและมีสัดส่วนการนำเข้าจากภายในอาเซียนค่อนข้างสูง
เมื่อนำผลการประเมินเชิงปริมาณดังกล่าวไปประกอบกับการวิเคราะห์ปัจจัยเชิงคุณภาพอีก 3 มติ ได้แก่ มิติการสนับสนุนนโยบาย มิตินัยต่อการพัฒนาประเทศ และมิติการใช้ประโยชน์จากการเปิดตลาดประชาคมอาเซียน กลุ่มวัสดุชีวภาพก็ยังได้รับการประเมินศักยภาพสูงสุดเช่นกัน เพราะมีความสำคัญในทุกมิติเป็นลำดับที่ 1-2 ขณะที่กลุ่มพลังงานสะอาดและกลุ่มสุขภาพ ถึงแม้ว่ามีนัยสำคัญในเชิงนโยบายมากกว่า แต่ไทยยังต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ต่างจากกลุ่มวัสดุสีเขียวที่มีรากฐานจากวัตถุดิบในประเทศและภูมิภาคเอเซียน
จึงสรุปการวิเคราะห์เพื่อระบุอุตสาหกรรมอนาคตของไทย 5 กลุ่มดังกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมอนาคตที่เหมาะสมกับไทยและเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านได้ดีที่สุด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุสีเขียว และยังได้นำมาศึกษาการพัฒนาเป็น "อุตสาหกรรมอนาคตนำร่องในเชิงคลัสเตอร์ข้ามแดน" ของไทย
ทั้งนี้ ในด้านการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตนำร่องในเชิงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมข้ามแดน ในการวิเคราะห์การเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าและคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุสีเขียว ประกอบด้วย 3 สาขา ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ สิ่งทอสีเขียว และวัสดุก่อสร้างสีเขียวนั้น สาขาบรรจุภัณฑ์สีเขียวมีโอกาสใช้วัตถุดิบจากผลผลิตการเกษตรมากที่สุด ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด รองลงมา คือ สาขาสิ่งทอสีเขียว ได้แก่ เส้นใยธรรมชาติ ส่วนสาขาวัสดุก่อสร้างสีเขียวใช้ประโยชน์จากการแปรรูปสินค้าเกษตรน้อยกว่าสาขาอื่นๆ โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มาจากของเหลือใช้หรือนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ตะกอน ขี้เถ้า กระจกรีไซเคิล
ดังนั้น ในการปลุกปั้นกลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุสีเขียวของไทย อาจใช้ประโยชน์จากประเทศเพื่อนบ้านได้ไม่เท่าเทียมกันโดยในสาขาบรรจุภัณฑ์สีเขียวสามารถนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อมาแปรรูปในไทยหรือออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชา และลาวที่มีขีดความสามารถในขั้นต้นน้ำของแต่ละสาขาและขั้นปลายน้ำของสาขาสิ่งทอได้มากที่สุด ในขณะที่สาขาวัสดุก่อสร้างสีเขียวใช้วัตถุดิบในประเทศที่เป็นขยะของเสียในสัดส่วนที่สูงกว่า จึงใช้ประโยชน์จากการค้าการลงทุนเสรีระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านได้น้อยกว่า
นอกจากนี้ กระบวนการผลิตและมูลค่าเพิ่มของสาขาสิ่งทอสีเขียวมีเอกลักษณ์แตกต่างจากสาขาอื่นๆ ตรงที่การผลิตขั้นกลางน้ำ กล่าวคือ การผลิตสิ่งทอสีเขียวสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าขั้นปลายน้ำ ซึ่งหมายถึงว่า การผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ผู้รับจ้างผลิตได้รับส่วนแบ่งในห่วงโซ่มูลค่าน้อย เนื่องจากการผลิตสิ่งทอสีเขียวอาศัยเทคโนโลยีสูงกว่า ขณะที่การตัดเย็บเสื้อผ้าใช้แรงงานเข้มข้น แตกต่างจากกระบวนการผลิตในอีก 2 สาขา ซึ่งในขั้นปลายน้ำต้องใช้เงินลงทุน รวมทั้งทักษะและเทคโนโลยีสูง ในการผลิตสินค้าเดิมด้วยวัตถุดิบและกระบวนการใหม่
สำหรับแนวทางการเชื่อมโยงในรูปแบบคลัสเตอร์นั้น เป็นไปได้ทั้งในรูปแบบคลัสเตอร์ข้ามแดนและคลัสเตอร์คู่แฝด แต่รูปแบบหลังเหมาะสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากรในคลัสเตอร์ที่มีความสามารถใกล้เคียงกันโดยไม่จำเป็นต้องมีพรมแดนติดกัน ซึ่งได้รับความนิยมในสหภาพยุโรป ส่วนในอาเซียน ควรเน้นแบบแรกมากกว่า เพราะมีความถนัดในส่วนที่แตกต่างกัน ทั้งการเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าและการเน้นประโยชน์ในการเชื่อมต่อระหว่างแต่ละขั้นตอนการผลิตระหว่างไทยกับพื้นที่ชายแดนของเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ การศึกษากลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุสีเขียวของไทยที่มีจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ในแต่ละประเด็นนั้น สามารถนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ ได้ทั้งหมด 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่อุตสาหกรรมอนาคตไทย 2. การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่การเชื่อมโยงในนห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมอนาคตไทย 3. การสร้างโอกาสและปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมอนาคตไทย 4. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมอนาคตไทย 5. การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอนาคตไทย และ 6. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการผลิตข้ามแดนรองรับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอนาคตไทย ซึ่งทั้ง 6 ยุทธศาสตร์มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องและสนับสนุนกัน
ข้อสรุปจากการดำเนินโครงการฯ ยังเสนอแนะด้วยว่า หากมีการผลักดัน 6 ยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยบูรณาการระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรมกับหน่วยงานอื่นภายในประเทศและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง จะสามารถส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคตไทยที่รองรับพลวัตการเปลี่ยนแปลงระดับโลกและภูมิภาคได้ในภาพรวม อันมีส่วนสำคัญในการยกระดับ ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง นอกจากนี้ หากดำเนินงานตาม กลยุทธ์ของแผนปฏิบัติการอุตสาหกรรมนำร่อง (กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุสีเขียว) จะสามารถเชื่อมโยงอุตสาหกรรมดังกล่าวในรูปแบบคลัสเตอร์ได้เข้มแข็งและเสริมสร้างการเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าได้ในทุกระดับแนวนอนและแนวตั้งของผู้ผลิตในขั้นตอนต่างๆ โดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางทรัพยากรของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเหมาะสม เพื่อปรับบทบาทของผู้ประกอบการไทยจากผู้รับจ้างผลิตเป็นผู้ออกแบบและเจ้าของตราสินค้า ตลอดจนใช้เป็นแบบอย่างในการกำหนดแผนปฏิบัติการสำหรับอีก 4 กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตต่อไป