กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--เมคอะเว็ลท์ คอนซัลติ้ง
บล.ทรีนีตี้ ประเมินภาวะตลาดหุ้นไทยปีหน้า มีโอกาสแกว่งตัวผันผวนในกรอบที่กว้างขึ้นกว่า 400 จุด เหตุไร้ปัจจัยสนับสนุนที่ชัดเจน ให้กรอบดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,100-1,500 จุด แนะกลยุทธ์การลงทุน "ขึ้นขาย-ลงซื้อ" ลุยหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ฟอร์มเด่นชนะตลาด
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยในปีหน้าจะมีความท้าทายไม่แพ้กับปี 2558 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป โดยประเมินดัชนี SET Index มีโอกาสจะแกว่งตัวผันผวนในกรอบที่กว้างขึ้นกว่า 400 จุด (จุดสูงสุด – จุดต่ำสุด) หรือคาดการณ์กรอบดัชนีที่ 1,100-1,500 จุด อ้างอิงช่วงระดับค่า P/E ที่ 11-15 เท่า และสมมติฐาน EPS ของ SET Index ปีหน้าที่ 100 บาทต่อหุ้น เพราะสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ
ทั้งนี้ ในภาวะที่ตลาดหุ้นปรับตัว Sideways มองกลยุทธ์การลงทุน "ขึ้นขาย-ลงซื้อ (Rebalancing)" จะยังได้เปรียบกว่ากลยุทธ์ "ซื้อถือยาว (Buy and Hold)" คาดตลาดหุ้นไทยในปีหน้ายังไม่อยู่ในช่วงภาวะขาลงแต่มองปี 2560 จะเป็นปีที่น่ากังวลอย่างแท้จริง เนื่องจากปัจจัยสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่จะเริ่มปรับตัวลดลง
"คาดในปี 2559 จะเป็นจุดสูงสุดของสภาพคล่องในระบบการเงินโลก (Peak of Liquidity) หลังจากที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มประกาศใช้นโยบายการเงินเข้มงวดแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) ของธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้วเริ่มจำกัด ซึ่งอาจเป็นเหตุผลให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น และยุโรป ตัดสินใจหยุดขยายวงเงินการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป" นายณัฐชาต กล่าว
ข้อโชคดีประการหนึ่งของตลาดหุ้นไทย ได้แก่ การที่นักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นไทยในระดับที่ต่ำมากในขณะนี้ ซึ่งอาจทำให้แรงขายของนักลงทุนกลุ่มนี้มีจำกัด แต่อย่างไรก็ตามหากจะให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาในรอบใหม่อย่างมีนัยสำคัญนั้น ความเชื่อมั่นหลายปัจจัยในประเทศจะต้องมีทิศทางที่ชัดเจนกว่านี้ อาทิ ปัจจัยด้านการเมือง แนวโน้มเศรษฐกิจ ทิศทางนโยบายภาครัฐ เป็นต้น ขณะเดียวกันระดับมูลค่า (Valuation) ของ SET Index ที่ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่ "ถูก" จนน่าสนใจ และยังเห็นสัญญาณการหั่นประมาณการของนักวิเคราะห์ในตลาดที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ตลาดหุ้นไทยอาจยังดูไม่น่าสนใจมากนักสำหรับนักลงทุนระยะยาว
ในภาวะการลงทุนที่ปัจจัยมหภาคเชิงบวกจำกัด มองว่าการเลือกหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่แข็งแกร่ง (Alpha) กว่าตลาดจะมีความปลอดภัยสูงสุด โดยประเมินว่าในปี 2559 หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก น่าจะเติบโตได้ดีชนะ (Outperform) หุ้นขนาดใหญ่ เนื่องจากมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นกว่า และยังมีระดับมูลค่าหุ้น (Valuation) ที่น่าสนใจกว่า นอกจากนั้นยังได้อานิสงส์จากสภาพคล่องในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจากภาวะดอกเบี้ยระดับต่ำ
นายณัฐชาต กล่าวว่า หุ้นที่น่าสนใจสำหรับในปี 2559 ให้เน้น 7 กลุ่ม ประกอบด้วย หุ้นกลุ่มก่อสร้างที่ได้ประโยชน์จากโครงการภาครัฐ ได้แก่ BEM, CK หุ้นที่ได้ประโยชน์ต่อยอดจากเทคโนโลยี 4G ได้แก่ COM7, JMART, SYNEX หุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาไก่ฟื้นตัว ได้แก่ CPF, GFPT, TFG หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า ได้แก่ DELTA, KCE หุ้นที่ได้ประโยชน์จากภาวะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) ขาขึ้น ได้แก่ BLA หุ้นกลุ่มธุรกิจขั้นปลาย (Downstream) ในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ BCP, IRPC และหุ้นพื้นฐานดี (Top pick) ของหมวดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้แก่ ADVANC, TCAP, LH