เรือหุ่นยนต์สองทุ่นเพื่อใช้เก็บข้อมูลทางอุทกศาสตร์ อาจารย์และนักศึกษา มทร.ธัญบุรี สำรวจข้อมูลอุทกศาสตร์

ข่าวเทคโนโลยี Monday December 14, 2015 14:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--มทร.ธัญบุรี ผลงานจากสมองคนไทย ดร.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ , ดร.มนูศักดิ์ จานทอง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และ นายสุรศักดิ์ ทิมพิทักษ์ , นายไกรศักดิ์ โพธิ์ทอง , นายสุรเชษฐ์ สุขล้น , นายบัญชา แซ่ย่าง , นายบัณฑิตย์ ขำดี นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี พัฒนาเรือหุ่นยนต์สองทุ่นแบบใช้งานระยะยาวสำหรับสำรวจข้อมูลอุทกศาสตร์ เพื่อหาความลาดชันของตลิ่งและสามารถแสดงภาพพื้นที่หน้าตัดของลำน้ำ และช่วยคำนวณหาปริมาตรความจุของลำน้ำ โดยทางทีมงานวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ2558 ดร.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ เปิดเผยว่า จากลักษณะภูมิประเทศของประเทศไทย พบว่ามีลุ่มแม่น้ำหลายแหล่งที่ประสบปัญหาการชะล้างพังทลายของดินหรือริมตลิ่ง ซึ่งสาเหตุหลักๆ ของการพังทลายของริมตลิ่งนั้นเกิดจากกระแสน้ำและกระแสลมจากสภาพภูมิประเทศและอากาศ หรือ ภัยที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะของตลิ่งและพื้นที่เขตชุมชนจนทำให้เกิดความเสียหาย นอกจากนั้นปัญหาการชะล้างพังทลายของดินและริมตลิ่งที่พบเจอแล้ว การบุกรุกทำลายป่า และการทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำการเกษตรที่ไม่มีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม เกิดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ โดยส่วนใหญ่พื้นที่ที่จะประสบปัญหานั้นจะเป็นพื้นที่ที่เกิดจากความลาดชันจะถูกกัดเซาะได้เร็ว การชะล้างพังทลายของดินเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา คือ ทำให้หน้าดินสูญเสียธาตุอาหาร เช่น ปุ๋ยธรรมชาติ ซึ่งถูกชะล้างออกไปจากดินทำให้คุณสมบัติทั้งด้านเคมีและกายภาพของดินเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ตะกอนดินที่ถูกน้ำพัดพาทับถมตามแหล่งน้ำต่างๆ จะทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการขาดแคลนน้ำสลับกับการเกิดน้ำท่วม เกิดสันดอนซึ่งเป็นอุปสรรคในการคมนาคมทางน้ำ ส่งผลทำให้เกิดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จากปัญหาเบื้องต้น ทางทีมงานวิจัยจึงได้พัฒนาเรือหุ่นยนต์สองทุ่นต้นแบบขึ้นมา โดยเรือหุ่นยนต์สองทุ่นต้นแบบ มีการพัฒนาระบบขับเคลื่อนเรือด้วยสองใบพัดแบบ differential เพื่อรองรับการปฏิบัติงานต่อเนื่องได้นานกว่า 3 ชั่วโมง ติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจวัดหน้าตัดความลึก (Cross-sectional profile) ของลำน้ำ ด้วยคลื่นเสียง หรือ echo sounder และความสูงตลิ่ง (Bank height) ของแหล่งน้ำ ด้วยเลเซอร์สแกนเนอร์ โดยในการเก็บข้อมูลจำเป็นต้องรู้ค่าความลึกของหน้าตัดลำน้ำทั้งใต้และเหนือผิวน้ำอย่างน้อย 6 จุด ขึ้นอยู่กับความกว้างของลำน้ำต่างๆ พร้อมนำข้อมูลที่ได้มาประมวลหาลักษณะของหน้าตัดคลองหรือแหล่งน้ำ ด้วยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้หาความลาดชันของตลิ่งและสามารถแสดงภาพพื้นที่หน้าตัดของลำน้ำได้ ดร.มนูศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของเรือหุ่นยนต์ ถูกพัฒนาเป็นสองทุ่นเพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการเคลื่อนที่ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยว ป้องกันการพลิกคว่ำของเรือเมื่อปะทะคลื่น บวกกับตัวเรือสร้างด้วยสแตนเลสจึงสามารถวิ่งได้ทั้งน้ำจืด และน้ำกร่อย ขนาดของเรือ กว้าง 1 เมตร 60 เซนติเมตร ยาว 1 เมตร 80 เซนติเมตร สามารถวิ่งในแหล่งน้ำที่มีความลึกมากกว่า 50 เมตร และสามารถวิ่งด้วยความเร็ว 1 เมตรต่อวินาที สามารถนำเรือหุ่นยนต์แบบใช้งานสำรวจแหล่งน้ำระยะยาว ที่ประยุกต์ใช้ได้ใน แม่น้ำ ลำคลอง หนอง อ่างเก็บน้ำ และริมชายฝั่งทะเล อีกด้วย สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร 02-549-4415 หรือทางwww.rmutt.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ