รายงานภาวะความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทย ประจำเดือน มกราคม 2544

ข่าวทั่วไป Wednesday February 7, 2001 15:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้
ความเคลื่อนไหวในตลาดแรก
ในช่วงเดือนมกราคมมีตราสารหนี้ที่ออกใหม่และขึ้นทะเบียนใหม่ศูนย์ซื้อขายฯ รวมทั้งสิ้น 63,300.00 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 10,000 ล้านบาท พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 800 ล้านบาท พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 46,500 ล้านบาท ตั๋วเงินคลัง 33,000 ล้านบาท และหุ้นกู้ภาคเอกชน 3,000 ล้านบาท
พันธบัตรรัฐบาลที่ออกใหม่ในเดือนมกราคม ได้แก่ พันธบัตรที่มีการประมูลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2544 จำนวน 2 รุ่น ซึ่งจะเป็นการ Re-open พันธบัตรรุ่นที่ออกจำหน่ายไปแล้ว ได้แก่ LB077A จำนวน 8,000 ล้านบาท และ 2,000 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนองค์กรรัฐวิสาหกิจ ได้แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(ETA) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้เริ่มทยอยประมูลพันธบัตรทีก่ระทรวงการคลังค้ำประกัน อายุ 2,3 และ 5 ปี มูลค่า 9,500 4,00 และ 3,000 ล้านบาทตามลำดับ ด้านตั๋วเงินคลังในเดือนนี้หมดอายุ 31,000 ล้านบาท และมีการออกจำหน่ายเพื่อทดแทนและออกใหม่ทั้งสิ้น 33,000 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นตั๋วเงินคลังรุ่นอายุ 28 วัน และอายุ 91 วัน ประเภทละ 4 รุ่น และสำหรับองค์กรภาคเอกชนที่ออกหุ้นกู้และนำมาขึ้นทะเบียนกับศูนย์ซื้อขายฯ ในเดือนนี้ ได้แก่ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) 1 รุ่น และบริษัทซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (SCON) 2 รุ่น อายุ 3.5 ปี และ 5 ปี
มูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนในศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
มูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนในศูนย์ซื้อขายฯ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2544 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,297,379.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.19 จากระดับ 1,269,567.34 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยที่ปริมาณดังกล่าวประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาล (ร้อยละ 45.96) พันธบัตร รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน (ร้อยละ 26.33) หุ้นกู้ภาคเอกชน (ร้อยละ 16.33) ตั๋วเงินคลัง (ร้อยละ 5.32) พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน (ร้อยละ 4.47) พันธบัตรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ร้อยละ 1.27) และ พันธบัตรธปท.และ พันธบัตรอบส.(ร้อยละ 0.31)
ภาวะการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลตามเส้น TBDC Government Bond Yield Curve ในเดือนมกราคมพบว่าอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงตลอดทุกอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรระยะยาวอายุ 10-14 ปี ที่มีการปรับตัวลดลงค่อนข้างรุนแรงถึง 115-128 bp โดยระยะสั้นอายุ 1-3 ปี มีการปรับตัวลดลงเฉลี่ย 11-24 bp ส่วนระยะกลางอายุ 5-7 ปี ปรับลดลง 64-65 bp การเคลื่อนไหวของอัตรผลตอบแทนเป็นการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพันธบัตรระยะยาว เนื่องจากการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ของสหรัฐอเมริกา และการคาดการณ์ถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยว่าจะทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง
ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ที่มีการรายงานต่อศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยในเดือนมกราคมมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึงร้อยละ 34.19 โดยมีมูลค่าทั้งสิ้น 167,371.63 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 7,970.08 ล้านบาท นับเป็นปริมาณการซื้อขายรายเดือนที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์ซื้อขายฯ โดยแบ่งเป็นธุรกรรมเป็นการซื้อขายจริง (Outright Transaction) มูลค่า 165,393.15 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.82 และธุรกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกู้ยืม และอื่นๆ (Financing and Other Transaction) มูลค่า 1,978.48 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.18 ของปริมาณการซื้อขายรวม การซื้อขายส่วนใหญ่ยังคงให้น้ำหนักที่พันธบัตรรัฐบาลสัดส่วนร้อยละ 79.20 รองลงมาเป็นกลุ่มตั๋วเงินคลังร้อยละ 10.21 พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินร้อยละ 5.05 พันธบัตรรัฐวิสาหกิจร้อยละ 3.37 และหุ้นกู้ภาคเอกชนร้อยละ 2.17
สำหรับตราสารหนี้ที่มีการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรกในแต่ละประเภทตราสารหนี้ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มพันธบัตรรัฐบาล ได้แก่ LB08DA LB077A และ LB113A พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ GHB01DA EGAT127A และ PTT107A ส่วนตั๋วเงินคลังนั้นในเดือนนี้ยังคงมีการซื้อขายคึกคักต่อเนื่องภายหลังจากการออกจำหน่ายในตลาดแรกของรุ่น 28 วัน และ 97 วัน มีความสม่ำเสมอมากขึ้น สำหรับหุ้นกู้ภาคเอกชนการซื้อขายในเดือนนี้ไม่ค่อยคึกคักเท่าใดนัก หุ้นกู้ที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ TFB#1 IFCT068A สำหรับสภาพคล่องการซื้อขายตราสารหนี้กลุ่มต่างๆ โดยวัดจากอัตรการเปลี่ยนมือการซื้อขาย (Turnover Ratio) นั้น พบว่า ตราสารที่มีการซื้อขายสูงสุดของแต่ละกลุ่มข้างต้นโดยส่วนใหญ่จะมีสภาพคล่องการซื้อขายสูงสุดเช่นกัน
สัดส่วนการซื้อขายในเดือนพฤศจิกายนเป็นธุรกรรมซื้อขายระหว่างสถาบันการเงินที่มีใบอนุญาตกับผู้ลงทุนประเภทต่างๆ (Dealer to Client Transactions) 96.742.26 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58 ของปริมาณการซื้อขายรวม ลดลงจากเดือนธันวาคมที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 71 ในขณะที่เป็นธุรกรรมการซื้อขายในกลุ่มสถาบันการเงินซึ่งมีใบอนุญาตค้าตราสารหนี้ (Interdealer Transactions) คิดเป็นมูลค่า 70,629.37 ล้านบาทหรือร้อยละ 42 ของปริมาณการซื้อขายรวม
ธุรกรรมการซื้อขายระหว่างสถาบันการเงินที่มีใบอนุญาตและผู้ลงทุนประเภทต่างๆ นั้น แบ่งเป็นธุรกรรมกับผู้ลงทุนในกลุ่มต่างๆ ดังนี้ กลุ่มสถาบันการเงินที่ไม่มีใบอนุญาตค้าตราสารหนี้ร้อยละ 46.07 กลุ่มกองทุนรวมร้อยละ 29.47 กลุ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการ (กบข) ร้อยละ 10.40 กลุ่มบริษัทประกันภัยร้อยละ 7.43 และกลุ่มนักลงทุนอื่นๆ ร้อยละ 6.72 โดยสัดส่วน สถาบันการเงินที่ไม่มีใบอนุญาตค้าตราสารหนี้ กลุ่มบริษัทประกันภัย และกลุ่มนักลงทุนอื่นๆ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ