กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--บางกอกพีอาร์
สยามพิวรรธน์ ตอกย้ำภาพลักษณ์ "ผู้นำความคิดสร้างสรรค์ที่ล้ำสมัย" ต่อยอด One Young World 2015 ดึง 5 เด็กไทยจากเวทีประชุมผู้นำรุ่นใหม่โลก เข้าร่วมทีมทำงานเดินหน้าพัฒนากิจกรรมเพื่อสังคมและประเทศเป็นรูปธรรม
สยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ ฯลฯ และเป็นหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของ "ไอคอนสยาม" อภิมหาโครงการเมืองที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของประเทศไทย ตอกย้ำภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งในฐานะ "ผู้นำความคิดสร้างสรรค์ที่ล้ำสมัย" ซึ่งถือเป็นพลังขับเคลื่อนความสำเร็จของสยามพิวรรธน์ หลังจากส่งตัวแทนเยาวชนไทยจำนวน 5 คน เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการประชุมระดับโลกสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ One Young World 2015 Bangkok ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย ณ กรุงเทพมหานคร สยามพิวรรธน์เดินหน้าต่อยอดส่งเสริม 5 เยาวชนไทยให้ได้แสดงศักยภาพ และใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ด้วยการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยทั้ง 5 คนเข้าร่วมทีมทำงานกับสยามพิวรรธน์ เพื่อมีส่วนร่วมในการคิดพัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวคิด "คิดต่าง สร้างคุณค่า" ซึ่งถือเป็นค่านิยมหลักของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของสยามพิวรรธน์
นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า "ในฐานะผู้นำความคิดสร้างสรรค์ที่ล้ำสมัย ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการที่เป็นครั้งแรก หรือสร้างปรากฏการณ์แปลกใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอยู่เสมอ สยามพิวรรธน์ได้ส่งตัวแทนเยาวชนไทยจำนวน 5 คน ได้แก่ นางสาวทิพยา ปึงเจริญกุล นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายสันติภาพ จรัสแผ้ว นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางสาวกานต์ธีรา ทิพย์กาญจนรัตน์ นิสิตปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และนางสาววราลี ศักดิ์ผดุงกิจ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และ นายพนธกร อุรพีพัฒนพงศ์ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประชุมระดับโลกสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ One Young World 2015 Bangkok ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เป็นครั้งแรกในเอเชีย ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเราเชื่อว่าประสบการณ์อันทรงคุณค่าที่สำคัญ และเป็นประสบการณ์ระดับโลกที่เยาวชนไทยทั้ง 5 คนได้รับจากการพบปะกับบุคคลสำคัญระดับโลก ทั้งอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี่ อันนัน, เซอร์ บ็อบ เกลดอล์ฟ, มูฮัมหมัด ยูนุส, พอล โพลแมน และผู้นำรุ่นใหม่กว่า 1,300 คน จาก 196 ประเทศทั่วโลก จะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับตัวแทนเยาวชนไทย พัฒนาไปสู่การเป็นคนคุณภาพ กลับมาทำประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติได้ในอนาคต"
"ยิ่งไปกว่านั้น สยามพิวรรธน์ได้เดินหน้าสนับสนุนให้เกิดการต่อยอด โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยทั้ง 5 คน เข้าร่วมงานกับสยามพิวรรธน์ มีส่วนร่วมในการคิดสร้างสรรค์ แสดงความคิดเห็น และร่วมพัฒนาโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสังคมและประเทศชาติโครงการต่างๆ ของสยามพิวรรธน์ อาทิ โครงการคิดต่างสร้างคุณค่า เป็นต้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้ร่วมคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาโครงการเพื่อสังคมที่จะยิ่งใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาแนวความคิดให้เป็นรูปธรรม รวมถึงการคิดรายละเอียดต่างๆ โดยสยามพิวรรธน์มีแผนเตรียมเปิดตัวโครงการดังกล่าวในปี 2559 ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นการส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้นำความรู้ความสามารถ และประสบการณ์อันทรงคุณค่าที่ได้รับจากการประชุม One Young World มาต่อยอดใช้งานจริง และสร้างสรรค์ให้เกิดกิจกรรมเพื่อสังคมและประเทศชาติที่เป็นรูปธรรม" นางชฎาทิพ กล่าว
นางสาวทิพยา ปึงเจริญกุล นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ใน 5 ตัวแทนเยาวชนไทยที่ได้เข้าร่วมการประชุมระดับโลกสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ One Young World 2015 Bangkok ซึ่งมีความสนใจในปัญหาด้านการศึกษาเพื่อวางรากฐานสำหรับคนรุ่นใหม่ กล่าวว่า "การได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ One Young World นั้นถือเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตที่น่าจดจำ เป็นกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้อยากจะเป็นกำลังสำคัญในการทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อมอบสิ่งที่กว่าให้กับสังคม นอกจากนั้น One Young World เปรียบเป็นหน้าต่างบานสำคัญที่ทำให้เห็นโลกในมุมที่ต่างไป ทำให้เข้าใจเพื่อนมนุษย์มากขึ้น ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากทั่วโลกจากเพื่อนๆ จากประเทศต่างๆ ซึ่งทำให้เราอยากจะเป็นฟันเฟื่องสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคม ชุมชนแวดล้อม เพื่อก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานด้านการศึกษาที่ดีกว่า เพราะเราเชื่อว่าทุกคนมีความพิเศษอยู่ในตัวเอง เราต้องหาสิ่งนั้นให้เจอและสร้างประโยชน์จากความพิเศษนั้น เราต้องเชื่อว่าไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ เมื่อคิดจะทำสิ่งใด เราต้องมีความมุ่งมั่น นำมาผสานกับความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และเริ่มลงมือทำเพื่อก็ให้เกิดความแปลกใหม่ที่ดีกว่า"
นายสันติภาพ จรัสแผ้ว นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ใน 5 ตัวแทนเยาวชนไทยที่ได้เข้าร่วมการประชุม One Young World 2015 Bangkok ซึ่งมีความสนใจในปัญหาเกี่ยวกับปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชน และการค้ามนุษย์ กล่าวว่า "การเข้าร่วมโครงการ One Young World เปิดโอกาสให้ได้ร่วมแบ่งปันความคิดเห็นกับเพื่อนจากทั่วโลก ทำให้เข้าใจว่าหลายๆ ประเทศนั้นกำลังประสบปัญหาอะไรบ้าง
ช่วยให้เข้าใจถึงปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ที่เป็นปัญหาระดับโลก และที่สำคัญที่สุดคือได้เรียนรู้ว่าเยาวชนในที่อื่นๆ นั้นได้เริ่มลงมือจัดการกับปัญหาอย่างไร ประสบการณ์ครั้งนี้จึงถือเป็นแรงผลักครั้งยิ่งใหญ่ ที่ทำให้เห็นว่าปัญหาที่เราคิดมันเป็นปัญหาของทุกคนและต้องเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง ทั้งนี้ คิดว่าเราสามารถลงมือทำได้โดยผ่านการให้ความรู้ เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ด้วยการเชิญ NGO อัยการ บุคคลสำคัญในวงการต่างๆมาร่วมให้ความรู้ให้ทุกคนเข้าใจว่าปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์คืออะไรและเยาวชนสามารถควรลงมือทำอะไรได้บ้าง โดยจะต่อยอดความรู้ให้ขยายวงกว้างออกไปสู่ระดับอาเซียน ผ่านการใช้ เครือข่ายจากเพื่อนในแถบอาเซียน ที่รู้จักในงาน"
นายสันติภาพ กล่าวว่า "ต้องขอขอบคุณสยามพิวรรธน์ที่ให้โอกาสได้เข้าร่วมการประชุม One Young World ซึ่งเป็นโครงการสัมมนาเยาวชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งช่วยให้เราเห็นโลกกว้าง ช่วยให้เห็นศักยภาพของเยาวชนที่พร้อมจะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าให้กับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้รับอีกหนึ่งโอกาสที่สำคัญ ด้วยการเข้าร่วมทีมงานสยามพิวรรธน์ในการคิดสร้างสรรค์และพัฒนาโครงการเพื่อสังคม จะเป็นเวทีที่สำหรับที่เยาวชนอย่างเราๆ จะใช้ความรู้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ และเหมาะสม พร้อมกันนี้ เราจะเป็นกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อสังคมของสยามพิวรรธน์อีกทางหนึ่งด้วย เพราะเยาวชนคือตัวเชื่อมอันสำคัญระหว่างคนรุ่นต่างๆ อีกทั้งเยาวชนเองมีความสามารถในการรับและถ่ายทอดข่าวสารผ่านเครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ในมือ"
นางสาวกานต์ธีรา ทิพย์กาญจนรัตน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 ใน 5 ตัวแทนเยาวชนไทยที่ได้เข้าร่วมการประชุมระดับโลกสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ One Young World 2015 Bangkok ซึ่งมีความสนใจในปัญหาเกี่ยวกับปัญหาทางด้านสิทธิขั้นพื้นฐานแก่แรงงานข้ามชาติ และสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรี กล่าวว่า "การเข้าร่วมประชุม One Young World ถือเป็นจุดศูนย์รวมของแรงบันดาลใจที่ได้จากผู้คนในหลายๆ สายงาน เช่น นักบินอวกาศ นักธุรกิจ ต่างๆ แม้จะมีความหลากหลายแต่ทุกคนพร้อมที่จะแก้ปัญหาสังคมอย่างแท้จริง โดยหัวข้อที่ประทับใจที่สุดเป็นช่วงพูดคุยโดย Oscar Anderson ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย แต่เขาไม่แสดงออกถึงความบกพร่องใดๆ แต่กลับมีแรงบันดาลใจเต็มเปี่ยมที่พร้อมจะทำอะไรเพื่อโลกใบนี้ ทำให้เรากลับมามองตัวเองว่า เราไม่ควรนำปัญหาเล็กน้อยที่เกิดขึ้นระหว่างทางมาเป็นอุปสรรค"
นางสาวกานต์ธีรา กล่าวว่า "ก่อนหน้านี้ได้เคยทำกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานแก่แรงงานข้ามชาติ และสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรี แต่หลังจากเข้าร่วมประชุม One Young World ทำให้เห็นปัญหาเพิ่มเติม โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จึงวางแผนที่จะต่อยอดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ผ่านชมรมผู้นำเยาวชนสหประชาชาติที่ทำอยู่แล้วในรั้วมหาวิทยาลัย มีสมาชิกประมาณ 100 คนจากมหาลัยต่างๆ ในประเทศไทยและทั่วโลกเปรียบเป็นกระบอกเสียงของเยาวชนส่งถึงผู้นำระดับโลกเพื่อคิดแนวนโยบายแก้ปัญหาต่อไป"
ทั้งนี้ สยามพิวรรธน์ใช้เวลากว่า 3 เดือนในการคัดเลือกตัวแทนเยาวชนไทยจำนวน 5 คน จากเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก โดยมุ่งเน้นเยาวชนที่สนใจปัญหาเรื่องการศึกษาและสิ่งแวดล้อม เพื่อสะท้อนค่านิยมหลักในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของสยามพิวรรธน์ คือ "คิดต่าง สร้างคุณค่า" ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับ 3 แกนหลักคือ คน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ จากนั้นได้จัดกิจกรรม workshop เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนทั้ง 5 ก่อนเข้าร่วมการประชุม One Young World ทั้งการปูพื้นฐานความรู้เรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ โดยผู้บริหารระดับสูงของสยามพิวรรธน์ อาทิ แนวทางการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในยุคการตลาดที่ทันสมัย กิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ที่น่าสนใจของสยามพิวรรธน์ที่ดำเนินมาต่อเนื่องและยาวนาน พร้อมกันนี้สยามพิวรรธน์ยังได้เชิญตัวแทนแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ของการประชุม One Young World ครั้งก่อน มาร่วมบรรยายแบ่งปันประสบการณ์ให้กับตัวแทนเยาวชนทั้ง 5 คนด้วย
"เยาวชน ถือเป็นทรัพยากรหลักที่สยามพิวรรธน์ให้ความสำคัญ เพราะเชื่อว่าเยาวชนคือรากฐานที่สำคัญของประเทศ เราจึงไม่รอช้าที่จะสนับสนุนและเปิดโอกาสหรือพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพและความคิดเห็น ค้นหาความเป็นตัวตน และสร้างเครือข่ายเยาวชนที่แข็งแรง พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับโลก เยาวชนทั้ง 5 คนจะเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญช่วยพัฒนาโครงการเพื่อสังคมและประเทศชาติ ที่ยิ่งใหญ่ในระดับชาติ ซึ่งสยามพิวรรธน์วางแผนทำให้เกิดขึ้นในปีหน้า โดยต้องการกำลังเสริมจากคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ ร่วมผนึกกำลังและขับเคลื่อนโครงการไปสู่ความสำเร็จ เพื่อเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติต่อไป" นางชฎาทิพ กล่าว