กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--บางกอกพีอาร์
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเสนอแนวทางให้กับภาครัฐเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้กับทุกภาคส่วนของประเทศ ด้วยการใช้มาตรการทางภาษีมูลค่าเพิ่มและการเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดอากรในเมืองสำหรับการซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยได้ก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งของเออีซีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า "สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยปัจจุบันจะเห็นว่า มีเพียงภาคการท่องเที่ยวเท่านั้นที่เป็นจักรกลหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ขณะที่ภาคการส่งออก ภาคการเกษตร หรือภาคการบริโภคในครัวเรือนล้วนเติบโตน้อย หรือไม่เติบโต สมาคมฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศให้มากขึ้น จึงจัดทำกลยุทธ์เชิงยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจเสนอให้ภาครัฐเพื่อพิจารณา โดยผ่าน 2 มาตรการสำคัญคือ
1. มาตรการทางภาษีมูลค่าเพิ่ม ใน 2 กรณี
กรณีที่ 1 คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ สถานที่ขายสินค้าในทันที
กรณีที่ 2 ใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 สำหรับการขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีวงเงินขั้นต่ำในการซื้อสินค้าแต่ละครั้งตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
2. มาตรการส่งเสริมให้มีการเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดอากรในเมือง ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของธุรกิจค้าปลีกเพื่อเป็นทางเลือกและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ใช้จ่ายมากขึ้นในการช้อปปิ้งในประเทศโดยภาครัฐต้องสนับสนุนให้มีการเปิดพื้นที่จุดส่งมอบสินค้า (pick-up counter)ในทุกสนามบินนานาชาติ ให้กับนิติบุคคลที่เป็นกลางเพื่อเปิดโอกาสให้ร้านค้าปลอดอากรในเมืองได้เข้าไปใช้บริการอย่างเท่าเทียมกัน
"การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเที่ยวเมืองไทยเป็นสิ่งสำคัญ แต่การทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายเงินในเมืองไทยให้มากขึ้นกว่าปัจจุบันถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งและเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกคนมากกว่า" ดร. ฉัตรชัย กล่าว
"มาตรการทางภาษีทั้งสองกรณีนี้ บางประเทศในเอเชียได้นำมาใช้แล้ว เช่นญี่ปุ่น ได้ประกาศนโยบาย Tax Free ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมกับตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้าน Tax Free อีก 3 เท่าเป็น 20,000 ร้านค้าภายในปี 2563 ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีวินัยทางการเงินและการคลังเข้มแข็งกำลังดำเนินการอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่และประเทศไทยก็สามารถและควรจะดำเนินการได้เช่นกัน ส่วนมาตรการร้านค้าปลอดอากร ประเทศจีนก็ได้ให้ความสำคัญจึงได้สร้างร้านค้าปลอดอากรที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งอยู่บนเกาะไหหลำ เพื่อดึงดูดนักช้อปทั้งชาวจีน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปรากฏการณ์นี้ทำให้นักช้อปซึ่งปัจจุบันเดินทางมาช้อปปิ้งในประเทศไทย หันความสนใจไปยังประเทศดังกล่าว" ดร. ฉัตรชัย กล่าว
ดร. ฉัตรชัย กล่าวเสริมว่า "ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมค้าปลีกและศูนย์การค้าของไทยได้ประกาศลงทุนไปกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อสร้างให้ไทยเป็นจุดหมายของการช้อปปิ้งแห่งเอเชีย และกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบใหม่ๆ ซึ่งสมาคมฯ เล็งเห็นว่า การที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคเอกชนไทยให้แข่งขันกับประเทศในภูมิภาคได้ และคงเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งของเอเชียนำมาซึ่งความมั่งคั่งให้กับคนนับล้านในหลากหลายสาอาชีพ การใช้มาตรการทางภาษีมูลค่าเพิ่ม และมาตรการส่งเสริมให้มีการเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดอากรในเมืองให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภาครัฐสามารถตัดสินใจได้โดยง่าย และดำเนินการได้ในทันที"
"ปี 2557 ประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท สมาคมฯ เชื่อว่า หากรัฐบาลให้การสนับสนุนทั้งสองมาตรการดังกล่าว จะทำให้ตัวเลขการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในไม่เกิน 3 ปี" ดร. ฉัตรชัย กล่าว
นางรวิฐา พงศ์นุชิต ผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายภาษี และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า "ข้อเสนอทั้งสองมาตรการของสมาคมฯ สามารถทำได้ และจะทำให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้คนไทยมีรายได้ และภาครัฐก็จะมีรายได้จากภาษีทุกประเภทมากขึ้นตามลำดับ"
"มาตรการดังกล่าวไม่เพียงแต่จะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ใช้จ่ายมากขึ้นในอุตสาหกรรมค้าปลีกเท่านั้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังได้รับประโยชน์โดยตรงจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเช่นกันโดยเฉพาะโรงแรม สปา ร้านอาหาร รวมไปถึงภาคการขนส่งทั้งทางบก ทางอากาศ และอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง"
"อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังทำให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมถึงกว่า 5.7 ล้านอัตรา ซึ่งถือว่าสูงมากเกือบเท่ากันกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหมดของประเทศ การสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงเท่ากับเป็นสร้างรายได้ให้กับคนจำนวนมหาศาล"
"มาตรการทางภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสองกรณี รัฐสามารถดำเนินการได้ โดยกระทรวงการคลังต้องมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังศึกษาความเป็นไปได้ จากนั้นจึงให้กรมสรรพากรพิจารณาหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขภายใต้ประมวลรัษฎากรเพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง แต่สำหรับมาตรการเพื่อส่งเสริมให้มีการเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดอากรในเมืองนั้น สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยร้านค้าเหล่านั้นต้องผ่านหลักเกณฑ์และความเห็นชอบจากกรมศุลกากร ทั้งนี้ รัฐเพียงให้การสนับสนุน จุดส่งมอบสินค้า (pick-up counter) ในบริเวณผู้โดยสารขาออกของท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่งที่มีศักยภาพ เพื่อให้ความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมืองสามารถไปรับสินค้านั้นได้จากจุดส่งมอบสินค้าดังกล่าวก่อนเดินทางออกนอกประเทศ อันจะมีผลทำให้สนามบินเหล่านั้นมีรายได้เพิ่มขึ้นจากแต่ละจุดส่งมอบสินค้าด้วย นับเป็นผลดีกับทุกฝ่าย" นางรวิฐา กล่าว
"ขณะที่มาตรการทางภาษีที่เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ยังต้องรอผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้จากกระทรวงการคลังก่อน แต่มาตรการเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดอากรในเมืองนั้นเป็นทางเลือกที่แท้จริงให้กับนักช้อปปิ้งชาวต่างชาติ โดยรัฐเพียงเพิ่มการสนับสนุนให้มีพื้นที่จุดส่งมอบสินค้า (pick-up counter) ในท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่งให้กับนิติบุคคลที่เป็นกลางดำเนินการเพื่อเปิดโอกาสให้ร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกแห่งได้ไปใช้บริการอย่างเท่าเทียมกัน อันจะมีผลทำให้รายได้โดยรวมเพิ่มขึ้นในทันทีเช่นกัน" นางรวิฐา กล่าว