สบส.ดันยุทธศาสตร์คุ้มครองประชาชนด้านข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ผลศึกษาปี 58 พบสื่อ 4 ประเภท ให้ข้อมูลเชิงโฆษณาแฝงสินค้าสูงกว่าให้ความรู้ถึง 12 เท่าตัว “เวปไซต์ทั่วไป-ทีวี-ไอจี”มากสุด

ข่าวทั่วไป Tuesday December 15, 2015 11:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติคุ้มครองประชาชนด้านข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ให้รู้เท่าทันสื่อ เข้าถึงง่าย เผยผลการศึกษาสถานการณ์การสื่อสารข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพผ่านสื่อในปี 2558 ทางสื่อยอดนิยม 4 ประเภท พบนำเสนอข้อมูลเพื่อการโฆษณาสูงถึงร้อยละ 92 ให้ความรู้เพียงร้อยละ 8 หรือสูงกว่าเกือบ 12 เท่าตัว มากที่สุดในเวปไซต์ทั่วไป ทีวี และอินสตราแกรม ร้อยละ 95- 99 ส่วนใหญ่เป็นเครื่องสำอาง อาหารเสริม ลดอ้วน มักใช้ดารา บุคคลมีชื่อเสียงในสังคมเป็นพรีเซนเตอร์หรือสัมภาษณ์ผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ ส่วนหนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่ให้ข้อมูลความรู้มากที่สุด นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสบส.มีเป้าหมายหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบริการสุขภาพและระบบสุขภาพภาคประชน ซึ่งได้กำหนดให้การดูแลคุ้มครองผู้บริโภคด้านข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ด้านสุขภาพด้วย เนื่องจากในยุคเทคโนโลยีสื่อสารในปัจจุบัน ข้อมูลเข้าถึงได้รวดเร็ว หลากหลายช่องทาง และมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนได้ทั้งบวกและลบ โดยเฉพาะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง บิดเบือนเพื่อประโยชน์แอบแฝงต่างๆ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด สร้างความเชื่อ ค่านิยมที่ผิดๆ ตามมาด้วยการใช้พฤติกรรมที่ผิด และทำลายสุขภาพได้ จึงต้องเร่งดำเนินการให้ประชาชนทุกระดับมีความรู้เท่าทันการสื่อสารการตลาดจากสื่อทุกรูปแบบ ในเบื้องต้นนี้ได้ให้กองสุขศึกษาพัฒนาระบบเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพทางสื่อสาธารณะ เพื่อเตือนภัยพฤติกรรมสุขภาพที่มีผลกระทบต่อการเจ็บป่วย โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ประชาชน สร้างภูมิคุ้มกันทางความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนทุกกลุ่ม และในปีนี้กรมสบส.ได้ยกร่างแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคด้านข้อมูลข่าวสารและความรู้สุขภาพระดับชาติ เพื่อให้มีระบบข้อมูล ข่าวสารและความรู้สุขภาพที่ถูกต้อง รวดเร็ว ทันสมัย เพื่อคุ้มครองประชาชนด้านข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่ถูกต้อง เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ดีสนองนโยบายรัฐบาล นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองกล่าวต่อว่า ผลการศึกษาสถานการณ์ ระวังข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพผ่านสื่อสาธารณะในประเทศไทยปี 2558 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2558 ในสื่อ 4 ประเภท ได้แก่ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์และสื่อออนไลน์คือเวปไซต์ เฟซบุค และอินสตราแกรมหรือไอจี พบมีข่าวสารสุขภาพทั้งหมด 37,057 ชิ้นงาน ร้อยละ 88 เผยแพร่ทางโทรทัศน์ ในภาพรวมพบว่าข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่ปรากฏ นำเสนอเพื่อการโฆษณาสูงถึงร้อยละ 92 ขณะที่การให้ความรู้มีจำนวนเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น โดยเป็นข้อมูลประเภทผลิตภัณฑ์ต่างๆเช่นอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอางร้อยละ 67 สื่อที่มีการนำเสนอข้อมูลสุขภาพเพื่อโฆษณาสูงที่สุดได้แก่ เวปไซต์ยอดนิยมทั่วไป ร้อยละ 99 รองลงมาคือทีวี นำเสนอร้อยละ 98 และอินสตราแกรม ร้อยละ 95 รูปแบบนำเสนอจะใช้พรีเซนเตอร์หรือผู้นำเสนอ เป็นดารา หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม หรือบุคคลที่กำลังได้รับความชื่นชอบ ชื่นชมในสังคม และใช้ป้ายในรายการทีวีหรือเกมส์โชว์ ผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาในทีวีส่วนใหญ่คือเครื่องสำอาง รองลงมาคืออาหารเสริมสุขภาพ ส่วนในอินสตาแกรมจะเป็นผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนมากที่สุด รองลงมาคือเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่วนนิตยสารมีโฆษณาร้อยละ 63 โดยกรมสบส.จะส่งข้อมูลเหล่านี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยเช่น อ.ย.และสคบ.เพื่อตรวจสอบด้านกฎหมายด้วย สำหรับหนังสือพิมพ์นั้น เป็นสื่อประเภทเดียว ที่มีนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ความรู้มากกว่าการโฆษณา โดยให้ความรู้ร้อยละ 66 มักจะนำเสนอเป็นคอลัมน์ประจำเกี่ยวกับสุขภาพ มีผู้เชียวชาญในเรื่องนั้นๆเป็นผู้ให้ข้อมูล ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเพื่อการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เช่นการออกกำลังกาย การกินอาหาร เป็นต้น ทางด้านนางสาวเบญจมาศ สุรมิตรไมตรี ผู้อำนวยการกองสุขศึกษากล่าวว่า สื่อสาธารณะที่ศึกษาครั้งนี้ สื่อ 4 ประเภทได้แก่ 1.นิตยสารตามกลุ่มผู้อ่าน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย วัยรุ่น กลุ่มผู้รักสุขภาพและนิตยสารบันเทิง 236 เล่ม ทั้งรายปักษ์ รายเดือนและรายสัปดาห์ 2.หนังสือพิมพ์รายวัน 11 ฉบับ 3.สถานีโทรทัศน์ที่มีผู้ชมมากที่สุด 9 สถานี ทั้งระบบปกติและดิจิตอลทุกช่วงเวลา และ4.สื่อออนไลน์ คัดเลือก 4 ประเภทได้แก่เวปไซต์ทั่วไปยอดนิยม 10 อันดับ เวปไซต์สุขภาพยอดนิยม 10 อันดับ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และความงาม 194 บัญชี และอินสตราแกรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความงาม 130 บัญชี แบ่งข้อมูลออกเป็นประเภทการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค ด้านผลิตภัณฑ์ บริการ และเนื้อหาผสมผสานกันเป็นที่น่าสังเกตว่าแม้เป็นเวปไซต์สุขภาพก็ตาม พบว่ายังมีการให้ข้อมูลเพื่อการโฆษณาแอบแฝงถึงร้อยละ 28 ผู้อำนวยการกองสุขศึกษากล่าวต่อว่า จากการศึกษาสถานการณ์ดังกล่าว พบว่าการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพผ่านสื่อสารธารณะในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งการโฆษณาแฝงได้ด้วยความเชื่อ ค่านิยม หรือการโฆษณาเกินจริง ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดค่านิยมที่ผิด คำนึงผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจมากกว่าให้ประโยชน์ด้านสุขภาพแก่ประชาชน สำหรับร่างแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคด้านข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ด้านสุขภาพหลักๆมี 3 ยุทธศาสตร์หลักได้แก่1.พัฒนาระบบข้อมูล ข่าวสาร ความรู้สุขภาพ 2. ระบบและกลไกการคุ้มครองด้านข้อมูลข่าวสาร ความรู้สุขภาพและ 3. ระบบและกลไกการมีส่วนร่วมภาคส่วนต่างๆ ขณะนี้ได้ยกร่างแล้ว และจะทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ