กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--ปภ.
นายพงศ์เผ่า เกษทอง รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซักซ้อมอพยพหนีภัยที่หาดป่าตองพร้อมแล้วมีมวลชนร่วมจำลองเหตุการณ์กว่า 1,500 คน ตั้งแต่ซอยบางลาไปจนถึงสะพานคอรัลไอแลนด์ให้เสร็จภายใน 30 นาที นายกฯพร้อมคณะทูตานุทูตกว่า 40 ประเทศชมการซักซ้อม หวังสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางกลับมาภูเก็ตอีกครั้งหนึ่ง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเซีย (ADPC) จัดสัมมนา “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำเครือข่ายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ประกอบการธุรกิจบริการนักท่องเที่ยว และองค์กรที่เกี่ยวข้อง” ที่โรงแรมเมโทรโพล อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายชุมชน ผู้นำชุมชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้าร่วมประมาณ 200 คน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความรู้ ทักษะและประสบการณ์ในการอพยพหนีภัยสึนามิ
นายพงศ์เผ่า เกษทอง รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงความพร้อมในการซักซ้อมอพยพหนีภัยในวันที่ 29 เมษายน 2548 นี้ว่า ขณะนี้การเตรียมความพร้อมมีความคืบหน้าไปแล้วประมาณ 95% เหลือเพียงขั้นตอนในการประเมินผลการซักซ้อมเท่านั้น ที่ได้ติดต่อให้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ตเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขในจุดที่ยังบกพร่องอยู่
“ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องการฝึกซ้อมมาก ทั้งในเรื่องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งในวันซ้อมนั้นทางนายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาดูการซักซ้อมด้วย พร้อมด้วยคณะทูตานุทูตจากประเทศที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์สึนามิประมาณ 40 ประเทศ”
นายพงศ์เผ่า กล่าวอีกว่า การเดินทางมาชมการซักซ้อมอพยพหนีภัยของคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ ในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ ที่จะเดินทางกลับมาภูเก็ตและอุ่นใจมากขึ้นถึงความปลอดภัย เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่ค่อยจะกลัวสึนามิหากมีระบบเตือนภัยและหนีภัยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการซ้อมในครั้งนี้ทางภูเก็ตจะแสดงศักยภาพความพร้อมให้นานาประเทศได้เห็นว่าหากเกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้นมาภูเก็ตมีความพร้อมทั้งระบบการเตือนภัยและการอพยพหนีภัย
สำหรับการซักซ้อมหนีภัยในวันที่ 29 เมษายนนี้ ทางเทศบาลเมืองป่าตองได้แบ่งพื้นที่การหนีภัยไว้ทั้งหมด 7 โซน แต่ที่จะทำการซักซ้อมมี 2 โซน คือ บริเวณโซน 5-6 ตั้งแต่ซอยบางลาไปจนถึงสะพานคอรัลไอแลนด์ ซึ่งเป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่ที่สุดของหาดป่าตองทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนประมาณ 5,000 คน
โดยจุดที่จะต้องอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยมี 2 จุด คือ ที่บริเวณเนินเขาทางขึ้นไปหาดไตรตรังและทางไปหาดกะตะ กะรน ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณชายหาดประมาณ 400-500 เมตรจะการอพยพหนีภัยดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 นาที โดยมีประชาชนเข้าร่วมการจำลองการหนีภัยสึนามิในครั้งนี้ประมาณ 1,500 คน หลังจากนั้นจะมีการประเมินผลการซักซ้อมเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการอพยพหนีภัยให้ดีที่สุด
นอกจากนี้ทางกองเรือภาค 3 กองเรือยุทธการจะทำการสาธิตการซ้อมแผนให้การช่วยเหลือผู้ประภัยสึนามิที่ถูกคลื่นสึนามิพัดลงทะเลไป โดยการนำเฮลิคอปเตอร์มาโรยตัวให้การช่วยเหลือ
นายพงศ์เผ่า กล่าวอีกว่า ภายหลังจากที่ชักซ้อมที่ป่าตองแล้วเสร็จเพื่อจะมีการซักซ้อมในจุดอื่นๆ ทั้ง 6 จังหวัดให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ พร้อมทั้งแผนงานการหนีภัยที่สมบูรณ์แบบของทุกๆ พื้นที่ รวมทั้งการทำความเข้าใจกับกลุ่มต่างๆ ทั้งผู้ประกอบการ ผู้นำท่องเที่ยว และเครือข่ายต่างๆ ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องภัยจากสึนามิให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันนายโกสินทร์ เกษทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะเดินทางไปประชุมร่วมกับเทศบาลป่าตองและสำรวจพื้นที่ที่จะอพยพคนขึ้นไปอยู่ในที่ปลอดภัยทั้ง 2 จุด คือ ที่บริเวณเนินเขาทางขึ้นไปหาดไตรตรังและทางไปหาดกะตะ กะรน--จบ--