กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๑๕ ธ.ค. ๕๘) เวลา ๑๕.๐๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปพม.) เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีภารกิจในการสร้างระบบสวัสดิการให้ประชาชนมีหลักประกันและมีความมั่นคงในชีวิต ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้ ขีดความสามารถ และระบบการบริหารจัดการด้านการพัฒนาสังคมเพื่อสร้างสังคมที่มีคุณภาพซึ่งจำเป็นต้องเสริมสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นต่างๆ ให้ทันสมัยและทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เพื่อให้สามารถรองรับกับโลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้จัดทำโครงการยกระดับการบริหารจัดการงานสวัสดิการสังคมและการพัฒนาสังคมภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานข้าราชการพลเรือนไทย-สิงคโปร์ (Civil Service Exchange Programme : CSEP) ขึ้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการกำหนดยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ และการติดตามประเมินผลเชิงยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเรียนรู้ศาสตร์และนวัตกรรมในการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลและผู้บริหารกระทรวงฯ รวมทั้งมีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่รวดเร็วในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกรอบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานข้าราชการพลเรือนไทย-สิงคโปร์
นายไมตรี กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยราชการไทยกับสิงคโปร์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของข้าราชการพลเรือน การประชุมตามโครงการดังกล่าวจัดขึ้นปีละ ๑ ครั้ง โดยทั้งสองประเทศสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยการดำเนินงานภายใต้โครงการฯ เป็นการศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างกัน (Best Practice) ปัจจุบันมีความร่วมมือทั้งสิ้น ๑๓ สาขา โดยสาขาที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ คือ สาขาสวัสดิการสังคม เยาวชนและกีฬา (Social Welfare, Youth and Sports Cooperation) โดยมีนายสัมพันธ์ สุวรรณทับ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จำนวนทั้งสิ้น ๒๐ คน เข้าร่วมโครงการดังกล่าวระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๗ พ.ย. ๕๘ ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ทั้งนี้ คาดว่าผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะมีศักยภาพในการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ โดยสามารถขับเคลื่อนการดำเนินภารกิจของกระทรวงฯ ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลและผู้บริหารกระทรวงฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าว คณะผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับฟังบรรยายด้านนโยบาย และโครงการ กิจกรรม รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านผู้สูงอายุกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของกระทรวงสุขภาพ (Ministry of Health) ศูนย์จัดการบริการแบบผสมผสาน (Agency for Integrated Care) ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบผสมผสาน SASCO (SASCO Integrated Eldercare Centre) และสถานพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ Jamiyah (Jamiyah Nursing Home) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งพบว่าประเทศสิงคโปร์มีแนวคิดว่า ผู้สูงอายุคือทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่า ดังนั้น จึงให้การดูแลผู้สูงอายุของตนเป็นอย่างดี โดยเมื่อสังคมเปลี่ยนเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุในด้านสาธารณสุขจะเน้นที่การรักษาโรคเรื้อรังและการดูแลสุขภาพแบบระยะยาวมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุในปัจจุบันมีอายุยืนยาวขึ้น พร้อมทั้งมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ ประเทศสิงคโปร์จึงพยายามสร้างสังคมของตนให้เป็นสังคมที่เหมาะกับคนทุกวัย โดยกระทรวงสุขภาพของสิงคโปร์ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน ๓ ล้านล้านเหรียญสิงคโปร์สำหรับนวัตกรรม ๖๐ โครงการครอบคลุมงาน ๑๒ ด้านที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ
นายไมตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษานโยบาย แลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์กับผู้ปฏิบัติงานด้านการดูแลผู้สูงอายุในประเทศสิงคโปร์ คณะผู้แทนได้รับความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมมากขึ้น นอกจากนั้น ยังได้มีการพูดคุยหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยมีข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงและพัฒนางาน ดังนี้ ๑) ด้านกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ๑.๑) กำหนดกฎหมาย/ระเบียบเพื่อส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงกำหนดให้มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน/ไม่ปฏิบัติตาม ๑.๒) กำหนดมาตรฐานการจัดตั้งและการดำเนินการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และสนับสนุนงบประมาณให้แก่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว ๒) ด้านการบูรณาการการทำงาน๒.๑) บูรณาการการทำงานระหว่างกรมกิจการผู้สูงอายุและกรมกิจการเด็กและเยาวชน เพื่อปลูกฝังความกตัญญูรู้คุณ การดูแลบุพการี และส่งเสริมการสานสัมพันธ์ระหว่างช่วงวัย ๒.๒) ให้ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและฝึกอายุอาชีพผู้สูงอายุตำบล
เป็นศูนย์กลางการทำงานของ พม. ในระดับพื้นที่ ๓) ด้านสวัสดิการของบุคลากร ๓.๑) ควรเพิ่มสวัสดิการและแรงจูงใจในการทำงานให้แก่บุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์และสาธารณสุขในสถาบันต่างๆ ๓.๒) สนับสนุนให้บุคลากรได้มีการเพิ่มความรู้และทักษะเฉพาะทางอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง