กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--เอไอเอส
เอไอเอส จับมือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันวิจัยและพัฒนาระบบวิเคราะห์และจัดเก็บข้อมูล บิ๊ก ดาต้า เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของงานบริการ
? นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานปฏิบัติการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า "ในปัจจุบัน เอไอเอสมีผู้ใช้บริการทั้งระบบรวมกว่า 37.8 ล้านราย และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่มีฐานลูกค้าที่ใหญ่ที่สุด การที่จะเข้าถึงความต้องการของผู้ใช้บริการในแต่ละกลุ่ม แต่ละประเภท หรือในรายบุคคล เพื่อทราบถึงประสบการณ์ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการในแต่ละบริการ ในช่วงเวลาและในสถานที่ต่างๆ ตลอดจนการจัดแคมเปญ โปรโมชั่นทางการตลาด หรือการมอบสิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการและพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งมีอยู่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก
ดังนั้น เอไอเอส จึงร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเจ้าขององค์ความรู้ด้าน บิ๊ก ดาต้า ในการร่วมวิจัยและพัฒนาระบบวิเคราะห์และจัดระเบียบฐานข้อมูล บิ๊ก ดาต้า ขึ้น เพื่อให้เอไอเอสเข้าถึงและเข้าใจพฤติกรรมการใช้งาน และความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และลึกซึ้งยิ่งขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าได้ตรงจุดอย่างแท้จริง รวมทั้งเพื่อเพิ่มความพึงพอใจ และสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีให้แก่ลูกค้าที่มีความหลากหลายได้มากยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้จากความเข้มแข็งทางด้านบิ๊ก ดาต้า ของคณะวิศวะ จุฬาฯ อีกทั้งการมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญและมีหลักสูตรการศึกษาในเรื่อง บิ๊ก ดาต้า โดยเฉพาะ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงช่วยให้ทีมงานเอไอเอส ได้รับทั้งความรู้ และความสามารถในการใช้งานบิ๊ก ดาต้า มากยิ่งขึ้นด้วย"
? ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "คณะวิศวกรรมศาสตร์มีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยไปเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานของทางภาครัฐ และเอกชน ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย และการพัฒนาของประเทศ โดยการทำงานวิจัยในลักษณะของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับบริษัทเอกชน ผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์กับภาคอุตสาหกรรม หรือโครงการ ILP (Industrial Liaison Program) ดังที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ จะเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย กล่าวคือทางด้านอาจารย์และนักวิจัยของคณะฯ จะได้มีโอกาสนำองค์ความรู้ และงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ในการทำงานของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ทำให้มีความเข้าใจในปัญหามากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนางานวิจัยในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนทางด้านเอกชนจะสามารถนำงานวิจัยและเทคโนโลยีใหม่อย่าง Big Data ไปพัฒนาบริการที่ดีขึ้น นำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และประเทศไทย เพื่อที่จะรองรับการแข่งขันที่จะสูงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่ AEC ที่จะเริ่มในปี 2559 นี้"