กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีที โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ได้ตั้งคณะทำงานโครงการพัฒนาพื้นที่ระบบนิเวศสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา รองผู้ว่าฯ เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันเป็นคณะทำงาน มีสำนักงาน SIPA สาขาภูเก็ตเป็นเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่ศึกษาแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทุกรูปแบบ รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหา กฎระเบียบ กฎหมาย และข้อบังคับที่เหมาะสม โดยเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของ Smart City ขณะเดียวกันก็ต้องร่วมมือกับคนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงไอซีทีจะเป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมโยงข้อมูลและบูรณาการบริการต่างๆ เข้าด้วยกันตามมาตรฐานหรือแพลตฟอร์มกลาง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีได้ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและวางแผนจัดทำโครงการ Smart City นำร่องที่จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองที่มีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติและมีชื่อเสียงระดับโลกด้านการท่องเที่ยว ทั้งยังมีความเหมาะสมในการเป็นสถานที่ทำงาน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ซึ่งจำเป็นต้อง มีโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โครงข่ายการสื่อสารที่ทั่วถึง รวดเร็ว และมีความเสถียร นอกจากนี้จังหวัดภูเก็ตยังได้ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 9 ของซูเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) ซึ่งหมายถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายหรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคตสำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เนื่องจากการรวมกลุ่มอยู่ในพื้นที่เดียวกันจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเสริมศักยภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมได้มากขึ้นและก้าวสู่การเป็นคลัสเตอร์ดิจิทัล
ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีประชากรเพียง 378,364 คน แต่มีนักท่องเที่ยวในปี 2557 สูงถึงกว่า 11,855,000 คน หรือคิดเป็น 3 เท่าของประชากรในพื้นที่ และในจำนวนนักท่องเทียวนี้เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 70% จึงมีความเหมาะสมในการดึงชาวต่างชาติที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ามาจัดตั้งบริษัทหรือสาขาที่ภูเก็ต ซึ่งจะผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัล (Digital Hub) โดยบทบาทของกระทรวงไอซีทีคือ การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้าน ICT ให้มีประสิทธิภาพ โดยมีการสร้างกำลังคน ศูนย์ถ่ายทอดที่ทันสมัย ศูนย์นวัตกรรม ศูนย์บ่มเพาะ และการเสริมแรงจูงใจทางภาษี การแก้ไขกฎหมาย การทำวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานได้สะดวกคล่องตัว รวมทั้งการเจรจากับบริษัท IT ระดับโลกเพื่อให้มีการจัดตั้งสำนักงานระดับอาเซียนในภูเก็ต
"Smart City เป็นการนำเสนอการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล หรือ Digital Thailand ในเชิงพื้นที่ เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับเมืองเพื่อให้สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพคล่องตัว ซึ่งการทำ Smart City มีได้หลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญคือต้องเข้าใจปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ แล้วร่วมกันออกแบบระบบที่เหมาะสมที่สุดกับคุณสมบัติของเมืองนั้นๆ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน" นางทรงพร กล่าว