กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--JGSEE
นักวิชาการ JGSEE ระบุการวางแผนการใช้พลังงานในอนาคตเป็นหนทางที่ทำให้ประเทศไทยมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้การเตรียมพร้อมที่สำคัญที่สุด คือ การหาพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพ และสามารถทดแทนพลังงานจากน้ำมันได้อย่างเห็นผล โดยพลังงานชีวมวล และพลังงานน้ำ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
จากการสัมมนาเรื่องการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน ทางออก และเครื่องมือของประเทศไทย ที่จัดขึ้นโดยบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เร็วๆ นี้ เพื่อให้คนไทยได้เห็นวิธีการ และประโยชน์ของการวางแผนการใช้พลังงานในอนาคตที่ยั่งยืน ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าในประเทศที่มีการพัฒนาด้านพลังงาน เช่น ประเทศเยอรมันจะมีการวางแผนการใช้พลังงานล่วงหน้าสำหรับอนาคต โดยเลือกพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับประเทศของตน รัฐบาลเยอรมันจะสนับสนุนพลังงานที่ได้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมากกว่าพลังงานที่มาจากน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนต่างๆ สำหรับประเทศไทยของเราก็เช่นเดียวกัน ต้องมองหาพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพที่สุด ที่ดูจะมีศักยภาพมากที่สุด คือ พลังงานชีวมวล และรองลงมา คือ พลังงานจากน้ำ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องใช้พลังงานทดแทนทั้งหมดมาแทนที่พลังงานจากน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ให้มีการใช้พลังงานทดแทน 8% ในปี 2554
ดร.บุญรอด สัจจะกุลนุกิจ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ผลิตผลต่างๆ ที่ได้จากการเกษตร เช่น ข้าว น้ำตาล หรือยางพารา เมื่อแยกวัตถุดิบออกแล้ว ยังมีเศษวัตถุดิบจำพวก แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย ไม้ยาง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นชีวมวลที่นำมาผลิตพลังงานได้ทั้งสิ้น ซึ่งเดิมชาวบ้านก็ใช้ชีวมวลเหล่านี้เป็นพลังงานในการหุงต้มอยู่แล้ว แต่อาจจะมีคุณภาพต่ำ หรือ สร้างมลภาวะทางอากาศมาก หากนักวิจัยจะหันมาพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้ดีขึ้น ทั้งในแง่ประสิทธิภาพของตัวชีวมวล และเครื่องมือ เครื่องใช้ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะทำให้พลังงานจากชีวมวลเป็นที่นิยมมากขึ้นในอนาคต
“ทุกวันนี้พลังงานที่เราใช้ภายในประเทศ เป็นพลังงานที่ต้องนำเข้าโดยเฉพาะน้ำมัน เมื่อน้ำมันมีราคาสูงขึ้น ต้นทุนในการผลิตสินค้าก็เพิ่มขึ้นด้วย ผลตอบแทนที่ได้จากการค้าขายมีน้อยลง สะท้อนให้เห็นว่าตราบใดที่เรายังต้องพึ่งพลังงานจากภายนอกอยู่ความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของเราจะน้อยลง จุดอ่อนของประเทศเราไทยคือไม่มีน้ำมัน แต่ก็มีจุดแข็งคือเรามีผลผลิตทางการเกษตร มีชีวมวล เราสามารถสร้างพลังงานขึ้นมาจากพื้นดินได้โดยการปลูกพืชที่ให้พลังงาน เช่น ปาล์ม เพียงเท่านี้เราก็สามารถทำพื้นดินให้กลายเป็นบ่อน้ำมัน ได้แล้ว ส่วนเงินตราที่ใช้ในการซื้อพลังงานจะยังคงวนเวียนอยู่ในประเทศ ทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งตนเองได้”
สำหรับพลังงานที่ถือว่ามีศักยภาพรองลงมาจากชีวมวล คือ พลังงานน้ำขนาดเล็ก (Small or Mini Hydro Power) ซึ่ง Prof.Christoph Menke ที่ปรึกษาบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้อธิบายไว้ว่าพลังงานน้ำขนาดเล็ก เป็นอีกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย เนื่องจาก ไม่ต้องอาศัยการเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ อีกทั้งประเทศไทยยังมีระบบชลประทานสำหรับส่งน้ำใช้เพื่อการเกษตร ซึ่งระดับน้ำไม่สูง ซึ่งไหลอย่างต่อเนื่องและคงที่ เหล่านี้สามารถนำมาผลิตเป็นแหล่งพลังงานเล็กๆ ได้ ทั้งนี้ยังต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้น และต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไป
ดร.บัณฑิต ยังได้กล่าวอีกว่าการวางแผนการใช้พลังงานเพื่อความยั่งยืนนั้น การหาพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะการที่จะนำพลังงานทดแทนมาใช้อย่างกว้างขวางนั้นยังต้องอาศัยการวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้น อีกทั้งยังต้องผลิตกำลังคนในระดับสูงให้สามารถวางแผน และบริหารจัดการพลังงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานในการผลิต และในภาครัฐที่จะต้องสามารถวางแผนการใช้พลังงานในอนาคตได้ สุดท้ายคือการผลิตกำลังคนเพื่อที่จะมาเป็นนักวิชาการเพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อไป ดังนั้นการร่วมมือจากทุกภาคฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานจึงเป็นสิ่งคัญที่จะทำให้ประเทศของเรามีความพร้อม และความยั่งยืนทางด้านพลังงานสืบไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ประชาสัมพันธ์ JGSEE--จบ--