กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิด Roadmap SMEs 3 4 5 ทางออกผู้ประกอบการไทยปี 2559-2560 ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ สร้างสรรค์ ส่งเสริม ซ่อมแซม พร้อมดัน 4 กลยุทธ์ สร้างอินเทลลิเจ้นท์ เอสเอ็มอี (Intelligent SMEs: iSMEs) รวมถึงแผนพัฒนา SMEs ใน 5 ระดับสถานะ ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจจนสามารถส่งออกไปสู่ทั่วโลกได้ นอกจากนี้ กสอ. ยังมุ่งเน้นต่อยอดผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการแข่งขัน ผ่านแนวคิด Shining to the World ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมแฟชั่น ภายใต้งบประมาณปี 2559 กว่า 2,300 ล้านบาท
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ. ได้กำหนดยุทธศาสตร์หลัก (ปี 2559-2560) ในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดอาเซียนและระดับโลก ซึ่งนำไปสู่การสร้างความยั่งยืน ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสรรค์ เป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneurs) ซึ่งการเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องส่งผลโดยตรงต่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเมื่อเกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ ก็จะเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หมุนเวียนในระบบตลอดเวลา ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2557 ที่ผ่านมามีจำนวนกิจการจัดตั้งใหม่ถึง 59,468 ราย (ข้อมูล: รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2558,สสว.) ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเพิ่มเติมข้อมูลความรู้ในการดำเนินกิจการ กสอ. จึงมีโครงการสอดรับกับยุทธศาสตร์นี้ ได้แก่ โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) โครงการสร้างธุรกิจใหม่ (New Business Creation: NBC) เพื่อสร้างแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการกล้าที่จะเริ่มต้นธุรกิจ โดยตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ในปี 2559 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 2,000 ราย ภายใต้งบประมาณกว่า 55 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริม เป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งผลักดันผู้ประกอบการรายเดิมและสถานประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้และมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การลดต้นทุน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนสามารถออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ ซึ่ง กสอ. ก็มีโครงการที่หลากหลายในการส่งเสริมผู้ประกอบการ รวมกว่า 70 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน (MDICP) โครงการพัฒนาศักยภาพ SMEs ด้วยระบบดิจิทัล เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ซ่อมแซม เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการฟื้นฟูกิจการ หรือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจ ทั้งในเรื่องกระบวนการผลิต การเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือ ขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ เป็นต้น กสอ. จึงมีนโยบายเร่งด่วนโดยให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ทราบจุดอ่อนและแก้ไขปัญหาของกิจการให้ตรงจุด ภายใต้โครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่ม ขีดความสามารถ SMEs โครงการบริการเงินสมทบจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงการผลิต การตลาด การจัดการ และ การบริการ รวมถึงกิจกรรมการสร้างการเชื่อมโยงและบูรณาการการดำเนินงานกับหน่วยงานเครือข่าย อาทิ สวทช. SME Bank และสถาบันการเงินอื่นๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือกิจการต่างๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการ เป็นต้น
ดร.สมชาย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กสอ. ได้กำหนดแนวทางผลักดันธุรกิจ SMEs ไทยให้มีศักยภาพและมีความเข้มแข็งและมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้วยกลยุทธ์ "อินเทลลิเจนท์เอสเอ็มอี"(iSMEs – Intelligent SMEs) โดยมี 4 องค์ประกอบ ดังนี้ 1. ไอโปรดักส์ (iProduct) การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผ่านการศึกษาพฤติกรรมความสนใจของผู้บริโภค โดยมุ่งให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคอย่างตรงจุด 2. ไอโพรเซส (iProcess) สร้างความสามารถในการวางแผนและบริหารจัดการกระบวนการผลิตได้อย่างชาญฉลาดเพื่อศักยภาพการผลิตที่สมบูรณ์ สามารถลดต้นทุนในทุกๆ ด้าน เช่น วัตถุดิบเวลา ทรัพยากรและบุคคล รวมถึงการเลือกใช้เครื่องจักรให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด 3. ไอเน็ตเวิร์ค (iNetwork) ฉลาดในการสร้างเครือข่ายธุรกิจ ด้วยการรวมกลุ่มและสร้างความเชื่อมโยงในเครือข่ายอุตสาหกรรมเดียวกัน 4. ไออองเทรอเพรอเนอส์ (iEntrepreneurs) เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการ ให้มีศักยภาพบริหารจัดการกิจการได้ทุกสถานการณ์ ทั้งผู้ประกอบการ รายเดิมและรายใหม่ โดยดูแลตั้งแต่ความรู้พื้นฐานในการประกอบกิจการ และการสนับสนุนให้สามารถจัดตั้งธุรกิจได้
สำหรับในปี 2559 กสอ. ได้วางแผนการสร้างความพร้อมให้แก่ SMEs ตามสถานะของผู้ประกอบการใน 5 ช่วงสถานะ โดยเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้พื้นฐานแก่ผู้ที่กำลังเตรียมความพร้อมเริ่มต้นธุรกิจ (Pre-Start-Up) ผ่านการฝึกอบรมหรือการถ่ายทอดข้อมูล เพื่อสร้างแนวคิดและการศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ ภายใต้โครงการต่างๆของ กสอ. อาทิ โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) โครงการสร้างธุรกิจใหม่ (New Business Creation: NBC) จนสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้เป็นผู้ประกอบการใหม่ (Start-Up) โดย กสอ. จะส่งที่ปรึกษาจากโครงการต่างๆ เข้าไปช่วยดูแลและสนับสนุนให้สามารถจัดตั้งธุรกิจและดำเนินการได้ และระยะต่อมาเป็นช่วงของการเติบโตของธุรกิจ (Growth) ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดให้มากขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้ ก็เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพอย่างเต็มที่ (Maturity) และมีความพร้อมในการแข่งขัน ผ่านโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน (MDICP) และโครงการอื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในธุรกิจได้ ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมสู่งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคได้ครอบคลุมทั่วอาเซียนและขยายสู่ทั่วโลกในอนาคต (International) อย่างไรก็ตามปี 2559 กสอ. ได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนา SMEs 2,435 กิจการ วิสาหกิจชุมชน 2,820 ราย ผู้ประกอบการและบุคลากรได้รับการพัฒนารวมจำนวน 14,845 คน โดย กสอ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2559 ทั้งในส่วนที่เป็นงบประมาณของ กสอ. และงบสนับสนุนต่าง ๆ กว่า 2,300 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการผลักดันผู้ประกอบการในสถานะที่มีความพร้อมออกสู่ตลาดต่างประเทศ (International) กสอ. จึงมีแนวคิด "Shining to the World" เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคได้ทั่วโลก โดยในปี 2559 ได้เน้นการส่งเสริม 4 อุตสาหกรรมดาวเด่น ที่สอดรับกับนโยบายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมของรัฐบาล ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ยานยนต์ (OEM/REM) โครงการพัฒนา Cluster อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์รวมอะไหล่ของโลก อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ กลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มน้ำยาเคมีและชุดตรวจวินิจฉัย และกลุ่มบริการและซอฟท์แวร์ทางการแพทย์ เป็นต้น อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ที่จะเน้นการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนามาตรฐานในระดับสากล พร้อมดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปโดยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางของเอเชียด้านนวัตกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เข้มข้นมากขึ้นเพื่อยกระดับทักษะองค์ความรู้ให้กับ SMEs ตลอดจนการส่งเสริมการจัดประกวดหาดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ผลักดันแฟชั่นไทยสู่สากล ทั้งในเวทีระดับอาเซียนหรือระดับโลกต่อไป สำหรับ 4 อุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่ารวมกันประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าการดำเนินการตามกลยุทธ์ดังกล่าวจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้กว่าร้อยละ 5-7
นอกจากนี้ กสอ. มีนโยบายในการสร้างศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์ แฟชั่น และบรรจุภัณฑ์ และศูนย์ออกแบบวิศวกรรม เพื่อให้บริการปรึกษาแนะนำด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงเป็นศูนย์กลางการวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ เครื่องจักรและอุปกรณ์ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะถึงนี้ด้วย ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-17 หรือ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr