กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร เผยข้อมูลโอกาสการค้าและการลงทุนสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดกลุ่มประเทศ MENA น้องใหม่มาแรง ครอบคลุม 19 ประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยปี 57 นำเข้าอาหารสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แนะไทยควรเร่งสร้างเครือข่ายการผลิตและการค้า ทั้งการร่วมลงทุนและการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานฮาลาล ชี้อาหารแปรรูปและเครื่องดื่มเป็นที่ต้องการสูง
ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์ตลาดอาหารในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือหรือ MENA (Middle East & North America) ซึ่งประกอบด้วย 19 ประเทศ ตามนิยามของธนาคารโลก ได้แก่ อัลจีเรีย บาห์เรน อียิปต์ อิหร่าน อิรัก อิสราเอล จอร์แดน คูเวต เลบานอน ลิเบีย โมร็อกโก โอมาน ปาเลสไตน์ กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย ตูนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน พบว่า แม้เศรษฐกิจของกลุ่ม MENA จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมันซึ่งเป็นรายได้หลัก แต่เศรษฐกิจก็ไม่ได้ทรุดตัวรุนแรงเหมือนเช่นในอดีต เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศได้ดำเนินนโยบายการพัฒนาประเทศเพื่อขยายฐานทางเศรษฐกิจ(Diversification) ทำให้เกิดรายได้จากแหล่งอื่นควบคู่กันไป โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าในปี2558 เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ MENA จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 2.4 ลดลงครึ่งหนึ่งของอัตราขยายตัวปกติซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่หดตัวลงร้อยละ 50-60
บรรดากลุ่มประเทศที่เป็นตลาดใหม่ของไทย กลุ่มประเทศ MENA ถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีโอกาสในการขยายการค้าการลงทุนโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร เพราะมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยหลายด้าน อาทิ ขนาดตลาดค่อนข้างใหญ่และมีกำลังซื้อสูง พิจารณาจากจำนวนประชากรที่มีมากถึง 410 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจมูลค่า 3.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (US$ Trillion) มีขนาดใหญ่ 7 เท่าของเศรษฐกิจไทย โดยตลาดที่มีกำลังซื้อสูงอยู่ในกลุ่มประเทศอ่าวอำหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) แม้ว่าจะมีจำนวนประชากรเพียง 50 ล้านคน หรือร้อยละ 12 ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มประเทศ MENA แต่กลับมีขนาดเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 47 ของภูมิภาค ส่งผลให้รายได้ต่อหัวของประชากรใน GCC ปี 2557 มีค่าเฉลี่ยสูงถึง 33,142 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในกลุ่ม MENA อยู่ที่ 7,761 เหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดใน MENA ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย รองลงมา คือ อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในกลุ่ม MENA สูงที่สุด ได้แก่ กาตาร์ รองลงมา ได้แก่ คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ปัจจุบันตลาด MENA ถือเป็นตลาดสินค้าฮาลาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ล่าสุดในปี 2557 กลุ่มประเทศ MENA นำเข้าสินค้าอาหารมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศที่นำเข้าสินค้าอาหารรายใหญ่ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ แอลจีเรีย และอิหร่าน ตามลำดับ
นอกจากนี้กลุ่มประเทศ MENA ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางสามารถกระจายสินค้าไปสู่ภูมิภาคข้างเคียงได้ในระยะทางที่ได้ เปรียบ อาทิ ยุโรป เอเชีย อเมริกา โดยมีนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน รวมถึงการกระจายสินค้าที่สำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ จัดทำเขตเศรษฐกิจเสรีหรือเขตปลอดภาษี (Economic Free Zone) กว่า 20 แห่งทั่วประเทศ เพื่อดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตและฐานการกระจายสินค้า ขณะที่โมร็อกโกมีบทบาทเด่นในกลุ่มแอฟริกาเหนือ โดยเป็นเสมือนประตูการค้าของภูมิภาคแอฟริกาสู่ยุโรปและภูมิภาคอื่น จากการคาดการณ์ของธนาคารโลก พบว่าใน ปี 2573 มูลค่าตลาดอาหารในภูมิภาคนี้จะขยายตัวสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปัจจุบันมีการนำเข้าสินค้าอาหาร 2 รูปแบบ คือ นำเข้าแล้วจัดจำหน่ายโดยตรง และนำเข้ามาแล้วนำมาบรรจุใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาค สินค้าอาหารที่มีความต้องการบริโภคที่สำคัญได้แก่ ธัญพืช นมและผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์แช่แข็ง (เนื้อไก่ แพะ วัว) สินค้าประมง (ปลา กุ้ง ทูน่า) ผัก ผลไม้สดและแปรรูป ขนมขบเคี้ยว ถั่ว เป็นต้น โดยพบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นคือ เนื้อสัตว์ (เนื้อไก่) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย ร้อยละ 3.9 และผลไม้ ร้อยละ 3.7
สำหรับอาหารแช่แข็ง (Frozen Processed Food) กำลังเติบโตเป็นอย่างมาก อาทิ เบเกอรี่ แช่แข็ง ขนมหวานแช่แข็ง พิซซ่าแช่แข็ง เนื้อแช่แข็ง ผักแช่แข็ง เป็นต้น เช่นเดียวกับอาหารกระป๋อง โดยสินค้าที่มีโอกาสเติบโตสูง ได้แก่ ถั่วกระป๋อง ทูน่ากระป๋อง อาหารสำเร็จรูปอื่นๆบรรจุกระป๋อง ขณะที่ชา กาแฟ ตลาดมีแนวโน้มขยายตัว 39% ต่อปี โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของชา กาแฟพร้อมดื่ม และกาแฟบรรจุกระป๋อง ส่วนสินค้าอาหารอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป น้ำผลไม้บรรจุกล่อง นมและผลิตภัณฑ์ ชาผงสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยวจากมันฝรั่ง ถั่วต่างๆ สแน็คจากผลไม้และถั่ว และผงหญ้าหวานสำหรับโรยข้าว เนื้อย่างสำเร็จรูปบรรจุกล่อง เป็นต้น ปัจจุบันพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากประชากรเริ่มประสบปัญหาโรคอ้วนและภาครัฐมีการรณรงค์มากขึ้น
สำหรับสินค้าอาหารของไทยที่จำหน่ายในภูมิภาคนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภททูน่ากระป๋อง ไก่แปรรูป ข้าวหอมมะลิ ผลไม้กระป๋อง ถั่วอบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส ประเภทน้ำจิ้มไก่ ผลไม้สด เช่น มะขาม มะม่วงน้ำดอกไม้และเขียวเสวย และทุเรียน เป็นต้น
จากศักยภาพด้านขนาดตลาดการค้าสินค้าอาหารในภูมิภาค MENA ดังที่ได้กล่าวไว้นั้น ถ้ากลับมามองประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารรายสำคัญของโลก และด้วยจุดแข็งด้านความชำนาญการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารหลากหลายกลุ่ม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าภูมิภาค MENA คือหนึ่งใน emerging market ที่มีความน่าท้าทายในด้านการค้า การลงทุน และการสร้างความร่วมมือกับประเทศเหล่านี้ในรูปแบบของเครือข่ายการผลิต เนื่องจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ตลาดอาหารเติบโตได้มาก ที่สำคัญ คือ แนวโน้มผู้บริโภคที่เปิดรับอาหารต่างชาติมากยิ่งขึ้น เป็นตลาดที่มีอำนาจซื้อสูง ช่องทางการกระจายสินค้าที่เพิ่มจำนวนอย่างมาก ความหลากหลายของเชื้อชาติในภูมิภาคนี้ รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์การนำเข้า-ส่งออกสินค้า โดยมีประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นผู้นำ ในขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นศูนย์กลางการส่งออกต่อ (re-export) ไปยังประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง และแอฟริกา และประเทศอาหรับอื่นๆ ที่สำคัญภาครัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในภูมิภาค โดยการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น รวมทั้งกฎระเบียบ และมาตรฐานอาหารในบางประเทศไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดอื่นๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยควรจะต้องมุ่งสู่การค้าการลงทุนในภูมิภาคนี้ และควรจัดทำเป็นวาระแห่งชาติ ในการขยายการค้า การลงทุน ในรูปแบบการสร้างเครือข่ายการผลิต เพื่อรองรับการค้าโลกที่จะก้าวเข้าสู่การค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบ