การประชุมคณะกรรมการจัดระเบียบรถตู้ในเขต กทม.และปริมณฑล

ข่าวทั่วไป Thursday October 18, 2001 14:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ศูนย์ ปชส.กระทรวงคมนาคม
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2545 ที่ผ่านมา นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระเบียบรถตู้โดยสารในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ณ ห้องประชุม 4 กระทรวงคมนาคม เผยการจัดระเบียบรถตู้โดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 5,566 คัน ใน 117 เส้นทาง ตามนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายนิกร จำนง) ใกล้เสร็จเรียบร้อย ขณะนี้ได้นำรถมาบรรจุใน ขส.บ. 11 แล้ว 4,901 คัน ส่วนที่เหลืออีก 665 คัน ได้เปิดโอกาสให้เจ้าของรถที่เคยถูกถอนออกจากบัญชี ขส.บ.11 จัดหารถใหม่มาทดแทนได้ ส่วนรถตู้นอกเหนือจากนี้จะพิจารณาตามความเหมาะสมและความต้องการของประชาชน
นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ เปิดเผยความคืบหน้าการจัดระเบียบรถตู้โดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลว่า ตามนโยบายของนายนิกร จำนง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมที่ให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการจัดระเบียบรถตู้ที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้เดินรถอย่างถูกต้อง มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยพิจารณาจากรถตู้ที่ได้สำรวจและมีผู้ยื่นแสดงความจำนงไว้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2544 และมียื่นเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 3-4 สิงหาคม 2544 รวม 5,566 คัน ในเส้นทางที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางอนุมัติเส้นทางให้แล้ว 117 แส้นทาง จนถึงขณะนี้สามารถบรรจุรถตู้ในบัญชี ขส.บ.11 ได้ 4,901 คัน ในจำนวนนี้ได้ทำสัญญากับ ขสมก. และเปลี่ยนเป็นป้ายเหลืองแล้ว 3,639 คัน ส่วนอีก 1,262 คัน อยู่ระหว่างทำสัญญากับ ขสมก. (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2545) ส่วนที่ยังขาดอีก 665 คัน ที่ประชุมมีมติให้เจ้าของรถตู้ที่ถูกถอนออกจากบัญชี ขส.บ.11 แล้ว จำนวน 866 คัน สามารถจัดหารถใหม่มาทดแทนได้ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2545 ผลปรากฎว่ามีเจ้าของรถตู้มายื่นจำนวน 1,450 ราย ซึ่ง ขสมก.จะตรวจสอบว่าผู้ที่มายื่นเป็นเจ้าของสิทธิ์เป็น 866 คันหรือไม่ต่อไป
นายเทิดศักดิ์ ฯ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบของคณะทำงานจัดระเบียบรถตู้ฯ พบว่า ยังมีรถตู้อีกส่วนหนึ่งที่ขณะนี้วิ่งให้บริการอยู่จริง และได้ยื่นขอตรวจสอบไว้กับ ขสมก. แต่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณา จำนวน 2,313 คัน ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงานจัดระเบียบรถตู้ฯ ตรวจสอบว่ามีจำนวนที่วิ่งอยู่จริงเท่าใด พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายละเอียดไว้เป็นหลักฐาน เพื่อป้องกันการแอบอ้างโดยไม่มีตัวรถอยู่จริงและจะได้หาแนวทางในการแก้ไขหลังจากจัดระเบียบรถตู้ชุดแรกเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ เจ้าของรถตู้ดังกล่าวที่ประสงค์จะเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก. ให้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนของทางราชการ โดยให้ประชาชนในท้องที่ที่มีความประสงค์จะใช้บริการเข้าชื่อกันตั้งแต่ 500 ชื่อขึ้นไป เสนอองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบความจำเป็น และความต้องการของประชาชน รวมทั้งจุดจอดรถ และส่งให้กรมการขนส่งทางบก และขสมก.พิจารณาต่อไป
นายเทิดศักดิ์ ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า เพื่อป้องกันไม่ให้มีจำนวนรถตู้มาวิ่งรับส่งผู้โดยสารโดยผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น นายนิกร จำนง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จึงได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกจัดทำบันทึกรับทราบ การนำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ไปใช้งาน เพื่อให้เจ้าของรถตู้ที่จะทะเบียนใหม่ ลงชื่อรับทราบว่ารถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนลักษณะเป็นรถตู้นั่งเป็นตอน จะนำไปใช้งานได้เฉพาะในกิจการส่วนตัวหรือตามปกติกิจเท่านั้น จะนำไปใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างไม่ได้ ซึ่งการนำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ไปประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ต้องระวางโทษตามมาตรา 126 ให้จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ตามมาตรา 21 ฐานใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ ต้องระวางโทษตามมาตรา 60 ปรับไม่เกินสองพันบาทด้วย--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ