กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "A-" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ตลอดจนการมีโรงภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีทั่วประเทศ และคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ปริมาณของภาพยนตร์ที่เข้าฉาย ความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ การแข่งขันจากกิจกรรมนันทนาการอื่น ๆ และการแพร่ระบาดของสื่อภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดในธุรกิจโรงภาพยนตร์และรักษาผลประกอบการให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเอาไว้ได้ อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากกระแสเงินสดของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและสามารถคงระดับอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ระดับ 30% เอาไว้ได้ ในทางตรงข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากบริษัทมีการกู้ยืมเงินอย่างมากจนทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวสูงกว่า 65%
บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เป็นผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 70% โดยพิจารณาจากรายได้รวมของภาพยนตร์ที่เข้าฉายในสัปดาห์แรก บริษัทก่อตั้งในปี 2538 โดยนายวิชาพูลวรลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นในสัดส่วน 34% บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 5 ประเภท ได้แก่ โรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่งและคาราโอเกะ สื่อและโฆษณา การให้เช่าพื้นที่และบริการ รวมถึงธุรกิจสื่อภาพยนตร์ โดยรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากธุรกิจโรงภาพยนตร์และธุรกิจโฆษณา ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 รายได้จากธุรกิจโรงภาพยนตร์คิดเป็น 68% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่รายได้จากธุรกิจโฆษณาคิดเป็น 14% สำหรับธุรกิจอื่น ๆ อีก 3 ประเภทต่างก็มีรายได้คิดเป็นประมาณ 6% ของรายได้ทั้งหมด
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 บริษัทดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์ 87 แห่ง โดยมีจำนวนจอภาพยนตร์ทั้งสิ้น 576 จอ ณ ปัจจุบันบริษัทมีโรงภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 35 แห่ง ในต่างจังหวัด 50 แห่ง และในต่างประเทศ 2 แห่ง หลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ในประเทศกัมพูชาในช่วงกลางปี 2557 แล้ว บริษัทก็ได้เปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ในต่างประเทศแห่งที่ 2 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในเดือนสิงหาคม 2558 โดยโรงภาพยนตร์ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าชื่อ Vientiane Center ซึ่งมีโรงภาพยนตร์ 5 จอและมีโบว์ลิ่ง 8 ราง สำหรับธุรกิจโบว์ลิ่งและคาราโอเกะนั้นบริษัทมีสาขาทั้งหมด 19 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยโบว์ลิ่ง 357 ราง ห้องคาราโอเกะ 225 ห้อง และลานสเก็ตน้ำแข็ง 5 ลาน นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่ดำเนินการเองจำนวน 5 แห่ง และมีพื้นที่ให้เช่าขนาด 50,489 ตารางเมตร (ตร.ม.) รวมทั้งยังขยายโรงภาพยนตร์ไปตามห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกสมัยใหม่โดยใช้ตราสัญลักษณ์หลากหลายเพื่อดึงดูดลูกค้าหลาย ๆ กลุ่มด้วย
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวแทนผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์และการมีโรงภาพยนตร์จำนวนมากทั่วประเทศ โดยรายได้จากการเข้าชมภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับจำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉาย รวมถึงคุณภาพและความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ด้วย อนึ่ง การชมภาพยนตร์ในโรงเป็นรูปแบบความบันเทิงที่มีราคาไม่แพงและสามารถเข้าถึงได้ง่าย อย่างไรก็ตาม การชมภาพยนตร์ในโรงก็มีความเสี่ยงจากการมีความบันเทิงในรูปแบบอื่น ๆ เป็นสิ่งทดแทน เช่น กิจกรรมความบันเทิงภายในบ้าน การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกิจกรรมนันทนาการอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมนันทนาการในรูปแบบอื่นดังกล่าวก็ยังไม่สามารถทดแทนประสบการณ์จากการชมภาพยนตร์ในโรงได้อย่างสมบูรณ์เท่า
ในปี 2557 บริษัทมีรายได้รวม 8,623 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 12% จากปีที่ผ่านมาเนื่องจากยอดการจำหน่ายตั๋วชมภาพยนตร์และการขายอาหารว่างและเครื่องดื่มเติบโตขึ้นจากการมีภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์จากฮอลลีวูดที่เป็นที่นิยมหลายเรื่องและการเพิ่มจำนวนจอภาพยนตร์ 41 จอ ส่วนธุรกิจสื่อภาพยนตร์นั้นช่วยสนับสนุนรายได้โรงภาพยนตร์แต่ผลประกอบการยังไม่มีกำไร สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ แต่รายได้ของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา คิดเป็น 6,605 ล้านบาท โดยรายได้จากการฉายภาพยนตร์และการขายอาหารว่างและเครื่องดื่มปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาตามการเพิ่มจำนวนจอภาพยนตร์ 67 จอ การเติบโตที่ชะลอตัวส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้ชมภาพยนตร์ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาเฉลี่ยของตั๋วภาพยนตร์ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากบริษัทลดการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ส่วนรายได้จากธุรกิจโฆษณายังเพิ่มขึ้น 12% จากปีที่ผ่านมาซึ่งมากกว่าอัตราการใช้งบโฆษณาโดยรวมผ่านสื่อต่าง ๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 27.9% ในปี 2556 เป็น 29.0% ในปี 2557 และ 30.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจภาพยนตร์และธุรกิจโฆษณาคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 52% และ 45% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายทั้งหมดตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากธุรกิจโฆษณามีค่าใช้จ่ายต่ำจึงสามารถสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญ
หนี้สินรวมของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 4,563 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 เป็น 4,685 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 โดยภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการขยายสาขา จึงส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 59.9% ในปี 2557 เป็นระดับ 60.9% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเงินทุนจากการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,437 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 2,031 ล้านบาทในปี 2557 และอยู่ที่ 1,301 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ทั้งนี้ เงินทุนจากการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขยายสาขา อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับเพิ่มขึ้นจาก 16.0% ในปี 2556 เป็น 22.7% ในปี 2557 แต่ปรับตัวลดลงเป็น 19.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 4.0 เท่าในปี 2556 เป็น 4.2 เท่าในปี 2557 และ 4.6 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ในช่วงอีก 12 เดือนต่อจากนี้ไปบริษัทมีภาระในการชำระหนี้จำนวน 3,353 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ใช้สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานจำนวน 2,442 ล้านบาทและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 800 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 บริษัทมีเงินสดจำนวน 402 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารหลายแห่งจำนวน 5,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนที่เพียงพอสำหรับภาระหนี้ดังกล่าว ณ เดือนกันยายน 2558 มูลค่าทางการตลาดของเงินลงทุนที่สำคัญของบริษัทมีมูลค่า 6,580 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนใน บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (MPIC) ใน บริษัท สยามฟิวเจอร์
ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (SF) ในกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ไลฟ์สไตล์ (MJLF) และใน PVR Ltd. มูลค่าทางการตลาดที่อยู่ในระดับสูงจากการลงทุนเหล่านี้จะเป็นส่วนเสริมให้แก่บริษัทหากต้องการเงินทุน
ในช่วงปี 2559-2562 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะเติบโตในระดับปานกลางจากแผนการขยายสาขา โดยคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 30% ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะเพิ่มจำนวนจอภาพยนตร์ให้เป็น 1,000 จอภายในปี 2563 ส่งผลให้บริษัทต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1,100-1,200 ล้านบาทในระหว่างปี 2558-2562 นอกจากนี้ บริษัทยังมีงบในการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์อีกปีละประมาณ 350 ล้านบาทด้วย ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 60% ทั้งนี้ เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 2,000 ล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะสูงกว่าระดับ 22% ส่วนอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 4 เท่า
บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) (MAJOR)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MAJOR165A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
MAJOR178A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable