กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--หอการค้าไทย
จากการที่ประเทศไทยได้ประสบสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กอปรกับการเข้าสู่การค้าและการลงทุนในตลาดเสรีทางการค้า ทำให้ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารและการจัดการ รวมทั้งมีการแก้ไขกฎระเบียบ และด้านกฎหมายให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้จากการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเศรษฐกิจในหลายฉบับ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับข้อมูลทางการบัญชีและการเงินให้ได้มาตรฐานสากล เช่น พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543 เป็นต้น
และเนื่องจากพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ.2505 ได้ใช้บังคับมานานแล้ว มีบทบัญญัติบางประการที่ยังไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับวิชาชีพที่ได้พัฒนาก้าวหน้าไปตามความเจริญและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้โดยที่ในปัจจุบันบริการทางวิชาชีพบัญชีมิได้จำกัดอยู่แต่การสอบบัญชีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ขยายไปถึงบริการทางด้านอื่นอีกด้วย เช่น การให้คำปรึกษาในด้านการจัดระบบข้อมูล ระบบการบริหาร ระบบการวางแผน และการควบคุมภายใน และโดยที่ควรให้การประกอบวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสมาคมวิชาชีพบัญชีในด้านนั้น เพื่อให้มีการพัฒนาให้ความรู้ ส่งเสริมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ ตลอดจนควบคุมการออกใบอนุญาต หรือหนังสือรับรองให้แก่สมาชิก และควบคุมจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพของสมาชิก อันเป็นการให้สมาคมควบคุมดูแลสมาชิกด้วยกันเองภายใต้การกำกับดูแลของภาคราชการ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ นอกจากนั้น ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพบัญชี พ.ศ...... เป็นร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่กระทบต่อนักบัญชีและผู้ประกอบการทั้งหลาย เช่น การกำหนดคุณสมบัตินักบัญชีต้องจบปริญญาตรีทางการบัญชี, ต้องเป็นสมาชิกสมาคมวิชาชีพ และต้องมีใบอนุญาต (หนังสือรับรอง) เป็นต้น การกำหนดให้มีคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี (คณะกรรมการ กมบ.) เป็นผู้ออกมาตรฐานการบัญชีที่เป็นกฎหมายอย่างสมบูรณ์ และยังมีอีกหลายประการ ที่น่าสนใจ ที่จะกระทบต่อนักบัญชี และผู้ประกอบการทั้งหลาย
คณะกรรมการธุรกิจการเงินและการลงทุน หอการค้าไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง และความจำเป็นในการปรับปรุงกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักบัญชี และผู้ประกอบการโดยรวม ดังนั้นจึงได้จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ขึ้นในหัวข้อเรื่อง "ร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพบัญชี พ.ศ......ผลกระทบต่ออนาคตของนักบัญชี และผู้ประกอบการ ?" ในวันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน 2544 เวลา 12.30 - 17.30 น. ณ ห้อง Ballrom ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อร่วมให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการและนักบัญชี รวมตลอดจนเป็นการระดมข้อคิดเห็น ผลกระทบในมุมมองต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวเสนอให้พิจารณาปรับปรุงให้ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการบัญชี พ.ศ. .....ฉบับดังกล่าว มีความสมบูรณ์ถูกต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป
คณะกรรมการธุรกิจการเงินและการลงทุน หอการค้าไทย จึงใคร่ขอเรียนเชิญท่านนักธุรกิจสมาชิกหอการค้าไทย / หอการค้าจังหวัด ตลอดจนผู้สนใจที่เคารพทุกท่าน ได้เข้าร่วมการจัดทำประชาพิจารณ์ เรื่อง "ร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพบัญชี พ.ศ. .....ผลกระทบต่ออนาคตของ นักบัญชี และผู้ประกอบการ ?" ในโอกาสดังกล่าวนี้ ทั้งนี้ ได้โปรดแสดงความจำนงโดยส่งใบตอบรับการเข้าร่วมจัดทำประชาพิจารณ์ ไปยังฝ่ายประสานงานส่วนกลาง หอการค้าไทย โดยด่วน ที่หมายเลขโทรสาร. 6221881, 2253372, 6221877, 6221879 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 6221860-76 ต่อ 222-224 (ค่าลงทะเบียนเข้าร่วมการจัดทำประชาพิจารณ์ ท่านละ 535 บาท บุคคลทั่วไปท่านละ 749 บาท รวมเอกสาร อาหารว่าง และ VAT)
ฝ่ายประสานงานส่วนกลางโทร.6221860-76
กำหนดการจัดทำประชาพิจารณ์
เรื่อง "ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพบัญชี พ.ศ. .....ผลกระทบต่อนาคตของนักบัญชี และผู้ประกอบการ?"
วันพฤหัสบดี ที่ 26 เมษายน 2544
ณ ห้อง Ballroom ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
12.30-13.15 น. ลงทะเบียนผู้เข้าร่วมทำประชาพิจารณ์
13.15-13.30 น. พิธีเปิดการทำประชาพิจารณ์
* กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การทำประชาพิจารณ์
คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์
* กล่าวเปิดการจัดทำประชาพิจารณ์
ประธานกรรมการหอการค้าไทย
13.30-14.00 น. ปาฐกถาพิเศษ โดย ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
(ดร.อดิศัย โพธารามิก) เรื่อง "ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพบัญชี พ.ศ....."
14.00-15.30 น. การทำประชาพิจารณ์เรื่อง "ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพบัญชี พ.ศ. ....ผลกระทบต่อนาคต
ของนักบัญชี และผู้ประกอบการ?"
วิทยากรร่วมอภิปราย
* ผศ.ดร.วิรัช อภิเมธีธำรง
คณะบดีพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
* คุณนนทพล นิ่มสมบุญ
นายกสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย
* คุณสันติ วิลาศศักดานนท์
กรรมการเหรัญญิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
* คุณอดุลย์ วินัยแพทย์
อธิบดีกรมทะเบียนการค้า
* ผู้แทนหอการค้าไทย
ผู้ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์
* คุณวิชัย โถสุวรรณจินดา
15.30-17.30 น. ผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ แสดงข้อคิดเห็น
17.30 น. ปิดการทำประชาพิจารณ์