โพลล์ระบุประชาชนสองในสามเดินช้าลงขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ มากกว่าครึ่งหนึ่งรู้สึกรำคาญเวลาเดินตามหลังผู้ใช้งานโทรศัพท์ขณะเดินบนทางสาธารณะ

ข่าวทั่วไป Monday December 21, 2015 08:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะกำลังเดินอยู่บนทางสาธารณะของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ศ.ดร. ศรีศักดิ์กล่าวว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่จัดเป็นอุปกรณ์ที่ผู้คนในปัจจุบันโดยเฉพาะที่อยู่ในสังคมเมืองอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีติดตัวไว้ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้เนื่องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการพัฒนาให้ใช้งานได้อย่างหลากหลายนอกเหนือจากการใช้เพียงเพื่อพูดคุยกันเท่านั้นและมีการพัฒนาโครงข่ายสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ประกอบกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันมีราคาที่ไม่สูงจนเกินไปจึงทำให้กลายเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ผู้คนทั่วไปมีไว้เป็นของตนเอง แต่อย่างไรก็ตามประเด็นหนึ่งที่เริ่มมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางคือการใช้งานโทรศัพท์ขณะเดินบนทางสาธารณะที่นับวันจะมีมากขึ้นตามจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์ ซึ่งกลายเป็นการสร้างปัญหาต่างๆเช่น กีดขวางผู้อื่นในการเดินบนทางสาธารณะ ทำให้ผู้อื่นเสียเวลาในการเดิน นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้งานโทรศัพท์เองได้โดยเฉพาะขณะเดินข้ามถนนหรือขณะขึ้นลงยานพาหน ซึ่งมีผู้คนบางฝ่ายออกมาเสนอให้มีการจัดเส้นทางสาธารณะโดยเฉพาะเพื่อให้ผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยไม่ต้องกีดขวางผู้อื่นและไม่ทำให้ตนเองเกิดอันตรายได้ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะกำลังเดินอยู่บนทางสาธารณะของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11 ถึง 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,177 คนซึ่งจำแนกเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.81 และร้อยละ 49.19 เป็นเพศชาย ขณะที่ร้อยละ 31.86 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 ถึง 34 ปี ศ.ดร. ศรีศักดิ์ กล่าวสรุปผลการสำรวจว่า ในด้านพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะเดินบนทางสาธารณะนั้น กลุ่มตัวอย่างเคยใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะเดินอยู่บนทางสาธารณะทำกิจกรรมต่อไปนี้มากที่สุด 5 อันดับ พูดคุยคิดเป็นร้อยละ 85.13 พิมพ์/อ่านข้อความสนทนา (chat) กับผู้อื่นคิดเป็นร้อยละ 83.09 ส่ง/อ่านข้อความ (SMS/MMS/E-mail)คิดเป็นร้อยละ 79.35 ดูรูปภาพ/วิดิโอคิดเป็นร้อยละ 76.47 และดูภาพยนตร์/ฟังเพลงคิดเป็นร้อยละ 73.83 สำหรับทางสาธารณะที่กลุ่มตัวอย่างใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะเดินมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ ขณะเดินบนทางสาธารณะภายในตึก/อาคารคิดเป็นร้อยละ 84.03 ขณะเดินบนบาทวิถีริมถนนคิดเป็นร้อยละ 82.16 ขณะเดินข้ามสะพานลอยสาธารณะคิดเป็นร้อยละ 77.49 ขณะเดินขึ้นลงบันได/บันไดเลื่อนสาธารณะคิดเป็นร้อยละ 74.26 และขณะเดินเข้าออกลิฟท์สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 71.62 ในด้านความคิดเห็นต่อการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะเดินบนทางสาธารณะ กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.1 มีความคิดเห็นว่าการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะเดินบนทางสาธารณะส่งผลให้ตนเองเดินช้าลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.19 มีความคิดเห็นว่าไม่ส่งผล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.71 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.92 มีความคิดเห็นว่าการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะเดินบนทางสาธารณะส่งผลให้ตนเองระวังสิ่งต่างๆรอบตัวขณะเดินน้อยลง นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 63.64 มีความคิดเห็นว่าการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะเดินบนทางสาธารณะมีส่วนทำให้ตนเองเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางช้าลง ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.36 รู้สึกรำคาญเวลาเดินตามหลังผู้ที่ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะเดินบนทางสาธารณะ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.74 ไม่รู้สึกรำคาญ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.9 ไม่แน่ใจ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.29 เห็นด้วยที่จะมีการจัดช่องทางพิเศษบนทางสาธารณะให้ผู้ที่ต้องการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะเดินเป็นช่องทางเฉพาะ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.68 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.03 ไม่แน่ใจ ศ.ดร. ศรีศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ