กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--ปตท.
ในสัปดาห์ล่าสุดราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบหลักทุกชนิดยังคงปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าโดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 37.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, น้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 35.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 3.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 32.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูปผันผวน โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 55.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 5.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 44.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· สำนักสารสนเทศทางพลังงานของสหรัฐฯ หรือ EIA (Energy Information Administration) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้นถึง 4.8 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 490.7 ล้านบาร์เรล สูงสุดสำหรับช่วงปลายปีในรอบ 85 ปี
· ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ หรือ FOMC (Federal Open Market Committee)ในวันที่ 15-16 ธ.ค. 58 มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จาก 0 % - 0.25 % สู่ระดับ 0.25 % - 0.50 % เพิ่มเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี
· เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า กดดันอุปสงค์สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่ซื้อขายด้วยเงินดอลลาร์ รวมทั้งน้ำมัน เนื่องจากทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นสำหรับผู้ซื้อที่ใช้เงินสกุลอื่นๆ
· เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 58 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Barack Obama ได้ลงนามกฎหมายงบประมาณรัฐบาลมูลค่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการยกเลิกกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันดิบ
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น หลังการก่อการร้ายในฝรั่งเศส โดยกลุ่มรัฐอิสลามหรือ IS (Islamic State) อ้างเป็นผู้กระทำการ และขู่จะโจมตีสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรเพื่อตอบโต้ที่โจมตีทางอากาศกลุ่ม IS ในซีเรีย
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน และ NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15ธ.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน21,847 สัญญา มาอยู่ที่ 68,766 สัญญา เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 สัปดาห์
· ผู้ค้าในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า เข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบ หลังจากขายไว้ก่อนหน้า (Short Covering) เพื่อทำกำไรในระยะสั้น
แนวโน้มตลาดน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบรายสัปดาห์ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 และมีแนวโน้มลดลง โดยยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ชัดเจนว่าสภาวะอุปทานล้นตลาดจะผ่อนคลาย อาทิ Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเหนือคาดหมาย เป็นครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์ โดยในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้น 17 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 541 แท่น ประกอบกับการซื้อขายเบาบางเนื่องจากใกล้วันหยุดเทศกาลคริสต์มาส และประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามกฎหมายงบประมาณ ซึ่งผ่านรัฐสภาภายใต้ข้อตกลงแลกเปลี่ยนการยกเลิกกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันดิบ กับการละเว้นภาษีสำหรับพลังงานลมและแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตามในระยะสั้นการยกเลิกการห้ามส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ อาจไม่กดดันตลาดมากนัก เนื่องจากสหรัฐฯ ยังไม่สามารถเริ่มส่งออกได้ทันที โดยจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการร่างกฏหมาย ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มลงลด หลังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบตกต่ำ อนึ่งสหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันดิบและคอนเดนเสท (Condensate) ประมาณ 700,000 บาร์เรลต่อวัน แก่ประเทศในเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) เช่น เกาหลีใต้ แต่ในระยะยาวอาจมี Arbitrage น้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ไปยังประเทศอื่นเมื่อมีโอกาส ทั้งนี้ International Energy Agency (IEA) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางพลังงานของกลุ่มประเทศ OECD คาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันจะล้นตลาดโลกต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2559 เป็นอย่างน้อย หากอิหร่านกลับมาผลิตน้ำมันเต็มที่และส่งออกเพิ่มขึ้น หลังมาตรการคว่ำบาตรผ่อนคลาย คาดว่าในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 36.20-40.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, WTI อยู่ในกรอบ 33.90-38.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Dubai อยู่ในกรอบ31.40-35.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุปทาน Gasoline ในตลาดสหรัฐฯ ตึงตัว โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตก เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งประสบปัญหาทางเทคนิค อาทิ โรงกลั่น Carson (กำลังการผลิต 251,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Tesoro ในเมือง Los Angeles ปิดดำเนินการหน่วยผลิต Gasoline จนถึงกลางเดือน ม.ค. 59 ทั้งนี้โฆษกบริษัท Tesoro แถลงโรงกลั่น Martinez (กำลังการผลิต 166,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งอยู่ใกล้เมือง San Francisco ลดอัตราการกลั่น เพื่อซ่อมบำรุงฉุกเฉิน ขณะที่โรงกลั่น Anacortes (กำลังการผลิต 125,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเมือง Washington ปิดซ่อมบำรุงตามแผน ประกอบกับ IES (International Enterprise Singapore) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ธ.ค. 58 ลดลง 710,000 บาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 12.9 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 49.90-54.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับลดลง เนื่องจากฤดูหนาวปีนี้ อากาศยังไม่หนาวรุนแรงนัก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซล เพื่อทำความอบอุ่น (Heating Oil) ชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ และปริมาณสำรองทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง อาทิ EIA รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล หรือ 1.7 % จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 152 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 11.3 ล้านบาร์เรล ประกอบกับอุปสงค์ในอินเดียชะลอตัว หลังศาลสูงสุดด้านสิ่งแวดล้อมมีคำสั่งงดเว้นการจดทะเบียนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในกรุงนิวเดลี เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 6 ม.ค. 59 เนื่องจากระดับมลพิษสูงเกินควร อนึ่ง ผลสำรวจขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization)ระบุว่าในปี 2557 กรุงนิวเดลีเป็นเมืองที่มีมลพิษสูงสุด สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ44.90-49.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล