กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น
ดร.อาชว์ เตาลานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ กล่าวในงานสัมมนาฉลองครบรอบ10 ปี ของสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในหัวข้อเรื่องทิศทางโทรคมนาคมของไทยหลังปี 2000 ว่า จากภาวะปัจจุบันถึงอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยมีแรงกดดันจาก 4 กระแส คือ 1.การกดดันจากการเปิดเสรีโทรคมนาคม การแปรรูป รัฐวิสาหกิจ การแปรสัญญากิจการโทรคมนาคม กฏหมายโทรคมนาคม และการจัดตั้งคณะ (กทช.) ซึ่งเหล่านี้จะกำหนดทิศทางของอนาคตอันใกล้นี้ 2.ความต้องการของลูกค้าจะมีมากขึ้นและสลับซับซ้อน ขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องความรวดเร็วในการรับส่งข้อมูล 3. การรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวของเทคโนโลยี จะมีการผลักดันให้คอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมก่อให้เกิดสื่อมัลติมีเดียรองรับเสียงข้อมูลและภาพ และ 4. กระแสการกดดันการแข่งขันอันใกล้ที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น เน้นคุณภาพดี ราคาถูก
นายธีระพงษ์ สุทธินนท์ ผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) กล่าวว่า ในปี 2000 เป็นปีที่ ก้าวเข้าสู่ยุคที่ 4 ซึ่งเป็นยุคของการเปิดเสรีโทรคมนาคมอย่างแท้จริง ทั้งนี้อำนาจทั้งหลายจะอยู่ที่ องค์กรของรัฐ คือ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีโทรคมนาคม ก็คือ การแปรสัญญาร่วมการงาน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้มีการจัดตั้งคณธกรรมการแปรสัญญาขึ้น มาทำหน้าที่เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2543 ที่ผ่านมาโดยมีกำหนดให้เสร็จภายใน 9 เดือน ซึ่งเอกชน ที่ไม่ได้ยื่นเรื่องขอแปรสัญญาในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวนี้จะต้องรอไปอีก 5 ปี
ด้านนายสุธรรม มลิลา ผู้อำนวยการทศท. กล่าวถึงทิศทางโทรคมนาคมว่า ปัจจุบันนี้มีการ จับกลุ่มธุรกิจกันมากขึ้น โดยการควบรวมกิจการซึ่งถือว่าเป็นกลไกสำคัญในช่วงเศรษฐกิจ ขณะนี้และกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมจะก้าวเข้ามามีบทบาทและเป็นกลไกในการสร้างและเพิ่มเศรษฐกิจของโลก สำหรับโทรคมนาคมภายในประเทศไม่เพียงแต่จะควบรวมกิจการกันเท่านั้น ยังมีการรวมบริการกัน เช่น การรวมบริการด้านเนื้อหาผ่านสื่อต่างๆ โดยมีการแลกเปลี่ยนเนื้อหาในรูปของเว็บเบส และโทรศัพท์มือถือพร้อมกันนั้นยังมีการรวมโครงข่ายเพื่อการสื่อสารข้อมูลกันมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโปรโตคอลมาใช้ให้บริการอินเตอร์แก่ประชาชนมากขึ้น--จบ--
-สส-