กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" ในการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมนั้น โดยในครั้งนี้ ได้ร่วมกับนิด้าโพล จัดทำโพล เรื่อง "CEO Survey ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559" โดยสอบถามความคิดเห็นจากผู้บริหารระดับสูงในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ กระจายทั่วทุกภูมิภาค เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 ในมุมมองของผู้บริหาร (Chief Executive Officer: CEO) และปัจจัยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลในการดำเนินกิจการ อีกทั้ง การปรับของภาคอุตสาหกรรม เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย การเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่ AEC ในปี 2559 และข้อเสนอแนะให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเรื่องใดบ้าง เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2559" นายสุพันธุ์ กล่าว
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เรื่อง "CEO Survey ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559" โดยสอบถามความคิดเห็นจากผู้บริหารระดับสูงในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ กระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 66 ราย เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 ในมุมมองของผู้บริหาร (Chief Executive Officer: CEO) อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถสรุปผลการสำรวจได้ ดังนี้
ความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโดยรวมในปี 2559 เมื่อเทียบกับปี 2558 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.94 ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยโดยรวมในปี 2559 เมื่อเทียบกับปี 2558 จะทรงตัว รองลงมา ร้อยละ 37.88 ระบุว่า ดีขึ้น และร้อยละ 18.18 ระบุว่า แย่ลง
ด้านการคาดการณ์ของผู้บริหารระดับสูงต่อทิศทางแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมปี 2559 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.03 ระบุว่า ทิศทางแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมปี 2559 จะทรงตัว รองลงมา ร้อยละ 27.27 ระบุว่า ดีขึ้น และร้อยละ 19.70 ระบุว่า แย่ลง
สำหรับความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อปัจจัยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.15 ระบุว่า เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเพื่อช่วยผู้มีรายได้น้อย วงเงินรวม 1.36 แสนล้านบาท รองลงมา ร้อยละ 59.09 ระบุว่า เป็นเม็ดเงินลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ร้อยละ 57.58 ระบุว่า เป็นภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ร้อยละ 43.94 ระบุว่า เป็นมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ระยะสั้น ร้อยละ 39.39 ระบุว่า เป็นความชัดเจนของนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามรูปแบบคลัสเตอร์ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ซูเปอร์คลัสเตอร์) ร้อยละ 37.88 ระบุว่า เป็นกำลังซื้อภายในประเทศ ร้อยละ 28.79 ระบุว่า เป็นสถานการณ์การเมือง ร้อยละ 19.70 ระบุว่า เป็นราคาน้ำมัน และร้อยละ 10.61 ระบุว่า อื่นๆ ได้แก่ การแก้ไขข้อกฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมายผังเมือง กฎหมายศุลกากร กฎหมายภาษีสรรพากร
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีความกังวลในการดำเนินกิจการในช่วงปี 2559 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.58 ระบุว่า เป็นกำลังซื้อภายในประเทศ รองลงมา ร้อยละ 51.52 ระบุว่า เป็นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ร้อยละ 48.48 ระบุว่า เป็นหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ร้อยละ 46.97 ระบุว่า เป็นสถานการณ์ภัยแล้ง ร้อยละ 40.91 ระบุว่า เป็นราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และจากปัจจัยสถานการณ์การเมืองในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 39.39 ระบุว่า เป็นตลาดเงินตลาดทุนที่มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นหากสหรัฐฯ มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 37.88 ระบุว่า เป็นการขาดเทคโนโลยีในการผลิตและการพัฒนานวัตกรรม ร้อยละ 28.79 ระบุว่าเป็นการขาดแคลนแรงงานฝีมือ ร้อยละ 27.27 ระบุว่า ความเข้มงวดของธนาคารในการให้สินเชื่อ และร้อยละ 18.18 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าการค้าเสรี เช่น TPP และ FTA-EU ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งขันโดยเฉพาะเวียดนาม และมาเลเซีย สินค้าเหล็กจากจีนที่เข้ามามาก การขยายเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่สีเขียว การส่งออกที่ยังชะลอตัว และค่าแรงที่สูงขึ้น
ด้านความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อการวางแผนในการดำเนินกิจการช่วงปี 2559 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 89.39 ระบุว่า มีการวางแผน ขณะที่ ร้อยละ 10.61 ระบุว่า ไม่มีการปรับเปลี่ยนแผนมากนักจากปี 2558 โดยในจำนวนผู้ที่มีการวางแผนนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.93 ระบุว่า เป็นการปรับปรุงเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต รองลงมา ร้อยละ 50.85 ระบุว่า เป็นการเพิ่มมูลค่าและพัฒนาคุณภาพ สินค้าและบริการ ร้อยละ 47.46 ระบุว่า เป็นการพัฒนาศักยภาพของแรงงาน ร้อยละ 35.59 ระบุว่า เป็นการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มฐานลูกค้า ร้อยละ 32.20 ระบุว่า เป็นการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ร้อยละ 25.42 ระบุว่า เป็นการเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ร้อยละ 23.73 ระบุว่า เป็นการชะลอการลงทุน ร้อยละ 18.64 ระบุว่า เป็นการขยายการลงทุน ร้อยละ 16.95 ระบุว่า เป็นการขยายฐานการผลิตและการลงทุนไปยังต่างประเทศ ร้อยละ 6.78 ระบุว่า เป็นการเพิ่มการจ้างงาน ขณะที่บางส่วนระบุว่ามีการวางแผนลดการจ้างงานในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 3.39 ระบุว่า เป็นการลดต้นทุนการผลิตทุกอย่าง
สำหรับความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 95.45 ระบุว่า มีการปรับตัว ขณะที่ ร้อยละ 4.55 ระบุว่า ไม่มีการปรับตัว โดยในจำนวนผู้ที่มีการปรับตัวนั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 60.32 ระบุว่า เป็นการบริหารจัดการต้นทุนและสินค้าคงคลัง รองลงมา ร้อยละ 53.97 ระบุว่า เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า /พัฒนาคุณภาพสินค้า ร้อยละ 46.03 ระบุว่า เป็นการวางแผน/ปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เช่น กระจายตลาดการค้าไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพใช้ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E – commerce) เป็นต้น ร้อยละ 44.44 ระบุว่า เป็นการวางแผนประมาณการ การสั่งซื้อ การผลิต การจำหน่ายล่วงหน้า ร้อยละ 31.75 ระบุว่า เป็นการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ร้อยละ 17.46 ระบุว่า เป็นการขยายฐานการผลิตและการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ด้านผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย จากการที่หลายสถาบันด้านเศรษฐกิจประเมินว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2559 ที่ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง จากปี 2558 พบว่า ผู้บริหาร ร้อยละ 3.03 ระบุว่า ส่งผลกระทบน้อยที่สุด ร้อยละ 15.15 ระบุว่า ส่งผลกระทบน้อย ร้อยละ 43.94 ระบุว่า ส่งผลกระทบปานกลาง ร้อยละ 36.36 ระบุว่า ส่งผลกระทบมาก และร้อยละ 1.52 ระบุว่า ส่งผลกระทบมากที่สุด
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก จากการที่ตลาดมีการประเมินว่าสหรัฐฯ อาจจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต้นของปี 2559 พบว่า ผู้บริหาร ร้อยละ 1.52 ระบุว่า ตลาดเงินและตลาดทุนจะมีความผันผวนน้อยที่สุด ร้อยละ 19.70 ระบุว่า จะมีความผันผวนน้อย ร้อยละ 45.45 ระบุว่า จะมีความผันผวนปานกลาง ร้อยละ 31.82 ระบุว่า จะมีความผันผวนมาก และร้อยละ 1.52 ระบุว่า จะมีความผันผวนมากที่สุด
สำหรับการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ AEC ในปี 2559 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.30 ระบุว่า มีการเตรียมพร้อม ขณะที่ ร้อยละ 19.70 ระบุว่า ไม่มีการเตรียมพร้อม ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่า มีการเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่ AEC ในปี 2559 นั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.15 ระบุว่า เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ด้านแรงงาน เทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า พัฒนาคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลก รองลงมา ร้อยละ 54.72 ระบุว่า เป็นการศึกษากฎระเบียบและเงื่อนไขต่างๆ ของประเทศคู่ค้า ร้อยละ 35.85 ระบุว่า เป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เช่น ด้านภาษา ฝีมือแรงงาน เป็นต้น ร้อยละ 33.96 ระบุว่า เป็นการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้สอดคล้องกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและสอดคล้องกับมาตรฐาน อาเซียน (ASEAN Standard) ขณะที่บางส่วน ระบุว่า เป็นการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 22.64 ระบุว่า เป็นการขยายฐานการผลิตและการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ด้านความต้องการของผู้บริหารระดับสูงต่อภาครัฐในการเร่งดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2559 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.21 ระบุว่า ควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องจากมาตรการระยะสั้น รองลงมา ร้อยละ 59.09 ระบุว่า เป็นการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ร้อยละ 51.52 ระบุว่า เป็นการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว ร้อยละ 46.97 ระบุว่าเป็นการเจรจาการค้าเสรีที่เป็นประโยชน์และเสริมความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก ร้อยละ 42.42 ระบุว่า เป็นการพัฒนาการค้าและการขนส่งชายแดนและผ่านแดนเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าตามแนวชายแดน ร้อยละ 36.36 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 34.85 ระบุว่า เป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และร้อยละ 13.64 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ควรสนับสนุนฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมทุกแขนง หาแหล่งพลังงานทดแทน สร้างความเชื่อมั่นทางการเมือง สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน เพื่อลดการคัดค้านการลงทุนสร้างโครงการต่างๆ และการพิจารณากฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะของผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2559 สามารถสรุปได้ดังนี้ รัฐบาลควรเพิ่มมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริโภคภายในประเทศ และส่งเสริมเงินทุนภายในประเทศเพื่อให้เกิดสภาพคล่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อีกทั้งควรส่งเสริมด้านการส่งออก และสร้างความเชื่อมั่นเรื่องคุณภาพสินค้าของประเทศไทย รวมถึงควรพิจารณาในเรื่องของการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นต้นทุนหลักของการผลิตหรือการดำเนินกิจการ รวมไปถึงอัตราภาษีส่งออก - นำเข้า และค่าเงินบาทที่เหมาะสม หรือไม่ผันผวนมากจนเกินไป อันจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมส่งออก – นำเข้า อีกทั้งควรมีการรวมกลุ่มจากผู้ประกอบการ หรือได้รับการส่งเสริมจากภาคส่วนต่าง ๆ แบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในลักษณะเครือข่ายภายในประเทศหรือภายในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทุกพื้นที่ให้เข้มแข็ง รวมตัวกันแก้ปัญหาและส่งเสริมวัตถุดิบในประเทศมากกว่าที่จะใช้วัตถุดิบนอกประเทศ สร้างขีดความสามารถในด้านการตลาด การค้าและการลงทุน การสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยมีจุดยืน เป้าหมาย และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) สามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้อย่างมั่นคง พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับ Industry 4.0, การพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งนี้ควรพิจารณาการขยายตัวของผังเมืองซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมด้วย รัฐบาลควรสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาดูงาน เช่นเดียวกับเมื่อ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งควรเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ รวมไปถึงการขยายการลงทุนขนาดย่อยไปสู่ระดับท้องถิ่น รวมถึงต้องการให้มีหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรอิสระ เช่น ปปช. เข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงาน โดยเฉพาะการลงนามเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ ในการขออนุญาตสร้างโรงงานหรือขยายอุตสาหกรรม และ รัฐบาลควรส่งเสริมแหล่งเงินทุน – สินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ...