กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--การประปาส่วนภูมิภาค
การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 3 ระยะ วางมาตรการเข้มทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพิ่มงบลงทุนก่อสร้างระบบผลิตและวางท่อส่งน้ำรับมือภัยแล้งปีหน้าในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ
นางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยว่า จากการประสานติดตามสถานการณ์ฝนและน้ำท่าร่วมกับกรมชลประทานและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด กปภ.ประเมินว่าในปี 2559 อาจเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมาและประเมินปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและจ่ายน้ำให้บริการประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังช่วงฤดูแล้งปีหน้า 57 สาขา จากพื้นที่ให้บริการของ กปภ.ทั้งหมด 234 สาขา 358 หน่วยบริการ กปภ.จึงได้จัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 3 ระยะ ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว โดยแผนงานระยะเร่งด่วนจะดำเนินการปรับปรุงแหล่งน้ำ สูบผันน้ำ ขุดลอกคูคลอง ขุดสระเก็บน้ำ เจาะบ่อบาดาล ก่อสร้างระบบผลิตและวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งปี 2559 วงเงินรวม 1,000 ล้านบาท แผนงานระยะสั้น กปภ.ได้เพิ่มงบลงทุน 1,155 ล้านบาท ในการปรับปรุงเส้นท่อ วางท่อจำหน่ายน้ำ ก่อสร้างระบบผลิต จัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้เพิ่มเติม จำนวน 17 โครงการในพื้นที่เฝ้าระวังที่ประสบปัญหาปริมาณน้ำดิบในแหล่งน้ำหลักที่ใช้ผลิตน้ำประปาลดลงอย่างต่อเนื่อง และพื้นที่เศรษฐกิจที่มีการขยายตัวของชุมชนอย่างรวดเร็ว ส่วนแผนระยะยาว ปี 2560 - 2561 ประกอบด้วยแผนงานเจาะบ่อบาดาล วางท่อน้ำดิบ ก่อสร้างระบบผลิตและวางท่อ ปรับปรุงแหล่งน้ำและขุดสระเก็บน้ำ วงเงินรวมประมาณ 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ กปภ.ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่ กปภ.สำนักงานใหญ่ และ กปภ.เขต 1 – 10 ติดตามสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่เพื่อบูรณาการข้อมูลป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ทันต่อสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการจ่ายน้ำให้ประชาชนที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภคโดยไม่คิดมูลค่า ร่วมกับ กองทัพบก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และบริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ในโครงการ ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง ที่ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 12 ปี
ผู้ว่าการ กปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กปภ.มีความมั่นใจในมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มงบลงทุน 17 โครงการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกที่ประสบปัญหาในปี 2558 จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย กปภ.จะเร่งรัดติดตามทุกแผนงานการลงทุนให้แล้วเสร็จพร้อมมือภัยแล้งครั้งหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้