กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--ม.รามคำแหง
นายรังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมอบให้บริษัทสามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) พัฒนาระบบการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมขั้นที่ 6 ครอบคลุมการเรียนการสอน 4 จังหวัด คือ นครพนม แพร่ ตรัง และลพบุรี โดยลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีการเรียนการสอนในระบบดังกล่าวกว่า 10 ล้านบาท
ด้านนายอิทธิวัตร ศรีณรงค์ศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทจะดูแลตั้งแต่การออกแบบ การติดตั้งระบบ พร้อมทั้งการฝึกอบรมให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยระบบการเรียนการสอนทางไกลนี้ จะผนวกการใช้อุปกรณ์วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากความเร็วเดิม 384 กิโลบิตต่อวินาที เพิ่มเป็น 512 กิโลบิตต่อวินาที
"รามคำแหงมีแนวคิดจะเป็นมหาวิทยาลัยชุมชน ทำหน้าที่กระจายการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศไทย ด้วยระบบการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมแบบสองทาง ซึ่งใช้คู่ความถี่ 1 คู่ความถี่ต่อหนึ่งเครือข่ายเท่านั้น ที่ผ่านมาโครงการนี้ผลิตบัณฑิตออกไปแล้วกว่า 4,000 คนแล้ว" นายรังสรรค์ กล่าว
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของไทย เริ่มการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมตั้งแต่ปี 2538 โดยเป็นการเรียนการสอนแบบสองทางจากบางกะปิ ไปยังวิทยาเขตบางนา ต่อมาจึงขยายไปตามวิทยาเขตที่จังหวัดอื่นๆ ซึ่งขณะนี้มี 14 แห่ง ได้แก่ บางนา นครราชสีมา นครศรีธรรมราช อำนาจเจริญ ปราจีนบุรี อุทัยธานี แพร่ นครพนม ศรีสะเกษ สุโขทัย ขอนแก่น ตรัง และลพบุรี--จบ--
-สส-