กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มทร.ธัญบุรี ได้ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ดำเนินโครงการ SME Champion ให้กับลูกค้า SME Bank 29 จังหวัดภาคกลาง 31 กลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 900 ราย โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะนำศักยภาพที่ มทร.ธัญบุรี มีอยู่ ใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม พัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงและสร้างความสามารถในการแข่งขันในยุคของ Digital Economy และเพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจได้รับการปรึกษาแนะนำ หรือการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และสร้างความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ 5 อันดับกลุ่มอุตสาหกรรม SME ที่เข้าร่วมโครงการสูงสุด ประกอบด้วย อาหารและอาหารสัตว์ การค้าปลีก การค้าส่ง วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์และชิ้นส่วน
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบการดำเนินโครงการจะจัดกิจกรรมฝึกอบรมเน้นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ Digital for Productivity โดยแบ่งเป็น การฝึกอบรม การให้คำปรึกษา การเยี่ยมชมบริษัทหรือโรงงานผลิต การติดตามผล และการให้คำนะนำเกี่ยวกับ Website/Social Media/Mobile Appให้กับผู้ประกอบการ โดยมทร.ธัญบุรี ได้นำคณาจารย์และบุคลากรเข้าไปให้ความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพ โดยมีการสอนตั้งแต่เรื่องการตลาด การบริหารจัดการ ระบบบัญชี เรื่องของบรรจุภัณฑ์ (Packaging) เครื่องจักรกล และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากแต่เดิมกลุ่มธุรกิจ SME จะทำธุรกิจบนพื้นฐานหรือประสบการณ์ดั่งเดิมของครอบครัว หรือชุมชน ทำให้เกิดธุรกิจที่เหมือนกัน และไม่สามารถยกระดับต่อการไปขายในธุรกิจขนาดใหญ่ได้
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาการฝึกอบรมและติดตามผลตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่าปัญหาส่วนใหญ่ทีผู้ประกอบการพบ แบ่งเป็น การตลาด 29% การเงิน 27% การผลิต 27% การจัดการ 17% ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ช่วยเหลือและส่งอาจารย์ให้คำปรึกษา เสนอแนะแนวทางพัฒนาธุรกิจ ในด้านต่างๆเช่นการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาและการจัดการองค์กร ฯลฯ พร้อมทั้งจัดทำรายงานวิเคราะห์ธุรกิจ ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจต่อไป"การร่วมมือกับ SME Bank ในครั้งนี้ถือเป็นอีกบทบาทหนึ่งของมหาวิทยาลัยในการให้บริการงานด้านวิชาการ เป็นการเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยเข้ากับชุมชนได้อย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะเป็นการนำองค์ความรู้ที่มทร.ธัญบุรีมีอยู่ไปพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านต่างๆ ให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัยเองเช่นกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือการที่มทร.ธัญบุรี มีส่วนช่วยทำให้ธุรกิจ SME มีความเข้มแข็ง เพราะจากการฝึกอบรมพบว่า หลายธุรกิจมีการแชร์ข้อมูล ซึ่งกันและกัน เกิดความเชื่อมโยงทางธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจ SME มีความเข้มแข็ง พร้อมที่จะแข่งขันในตลาดเสรี เพราะเมื่อธุรกิจเกิดการขยาย จะเกิดการจ้างงานและส่งผลดีต่อบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาต่อไป" รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว