กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยพะเยา
หลังปรากฏการณ์โลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้นจนสร้างวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมหลายพื้นที่ ส่งผลให้นานาชาติหันมาให้ความสำคัญกับนโยบาย Green House และ Green Office ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการทั้งระบบของบ้านและสำนักงานทั้งในประเด็นส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานและและปริมาณขยะ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เริ่มต้นการจัดการสำนักงานให้เข้าสู่ระบบดังกล่าว กระทั่งได้รับรางวัล "Thailand energy awards 2015" จากกระทรวงพลังงาน เป็นรางวัลการันตีคุณภาพ
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับการประกวดรางวัล Thailand energy awards 2015 มีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 83 ราย จากผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งหมด291 ราย โดยในปีนี้มีการขยายสู่กลุ่มผู้ใช้พลังงาน ออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ด้านพลังงานทดแทน ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ด้านบุคลากร ด้านพลังงานสร้างสรรค์ และด้านผู้ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน คิดเป็นมูลค่าผลประหยัดรวมได้มากกว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี สามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลก ได้มากกว่า 360,000 ตันต่อปี
ดร. สิงห์ชัย บุณยโยธิน ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ธนาคารฯ ได้รับรางวัลดีเด่นด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทระบบอาคารควบคุม โดยรูปแบบที่ธนาคารดำเนินการอย่างจริงจัง ได้แก่ การติดตั้งหลอดประหยัดไฟ การปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศแบบประหยัดพลังงาน การบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่า และมีการติดตั้งระบบเปิดปิดอัตโนมัติในอาคาร สิ่งสำคัญนอกเหนือจากอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะละเลยไม่ได้คือการกระจายนโยบายนี้สู่บุคลากรเพื่อปลูกผังจิตสำนึกให้ร่วมมือด้วยความสมัครใจ พร้อมกับการมีกิจกรรมแข่งขันประหยัดพลังงานในองค์กร เพื่อบุคลากรของธนาคารมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ธนาคารมีเป้าหมายประเมินความแตกต่างในอีก 3 ปี ข้างหน้า เพื่อเปรียบเทียบรายจ่ายด้านค่าไฟฟ้า จากนั้นตั้งใจว่าจะส่งเข้าประกวด ASEAN Energy Awards เพื่อแข่งขันระดับภูมิภาคและเปิดโอกาสให้ธนาคารฯ ได้รู้จักเพื่อนบ้าน ประเทศสมาชิกใน ASEAN เพื่อศึกษาแนวทางประหยัดพลังงานต่อไป
"ระบบ Green house หรือ Green Office นี้ ยังไม่สามารถทำได้เต็มรูปแบบ แต่เรายินดีจะเริ่มต้นการสร้างออฟฟิศไปสู่ระบบนั้น และเชื่อว่าหากบุคลากรให้ความร่วมมือ เราจะก้าวสู่จุดนั้นได้ไม่ยาก เรื่องพลังงานไม่ใช่เรื่องของใครคนใด คนหนึ่ง แต่จำเป็นต้องสร้างเครือข่าย ทุกวันนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยมีมากมาย บางครั้งเราคิดถึงความสะดวกมากเกินไปเราก็เจอวิกฤติค่าไฟฟ้าสูง ประเทศก็รับภาระไปด้วยดังนั้น ลดพลังงานวันนี้ก็เหมือนเราทำดีแก่ประเทศเช่นกัน" ดร. สิงห์ชัย กล่าว
ด้าน อ.เทอดศักดิ์ โกไศยกานนท์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดเผยถึงการเป็นที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงานให้กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือว่า จากพันธกิจของมหาวิทยาลัยพะเยาที่ มุ่งเน้นให้บริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคมอยู่แล้ว การขยายองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานก็นับเป็นความรับผิดชอบของสถาบันการศึกษาเช่นกัน สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นทางคณะฯได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการประหยัดพลังงาน ได้แก่การเลือกใช้อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพเพื่อการลดใช้พลังงาน การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานรวมถึงมีส่วนร่วมในการช่วยวางแผนและนโยบายส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในอาคารด้วย
"ถ้าต้นไม้ ในบริเวณอาคารมีมาก ก็จะสร้างร่มเงาได้ ทำให้อากาศดี ซึ่งก็จะลดการใช้ระบบปรับอากาศ ระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยพะเยาได้ให้บริการคำปรึกษาแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย เราย้ำเสมอว่าการประหยัดพลังงานในระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพนั้นก็คือการลดความร้อนที่เกิดขึ้นในอาคารโดยจัดสภาพแวดล้อมภายนอกให้ร่มรื่นนั่นเอง"