กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--ม.มหิดล
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์วิรุณ บุญนุช ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศเชิดชูเกียรติอาจารย์ผู้มีความสามารถในเชิงวิชาการ มีจริยธรรม และอุทิศตนในด้านต่างๆ เพื่อเข้ารับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๘ จำนวน ๓ ท่าน โดยจะเข้ารับรางวัลในงาน "๔๗ ปี วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล" ๒ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกวิวัณณ์ วีรกุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้มีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนของโรคค่าใช้จ่ายสูง (โรคมะเร็งเด็ก) เพื่อให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์จากการรักษาที่ได้มาตรฐานเท่าเทียมกันทั้งประเทศ ตลอดจนผลักดันนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติด้านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และได้ริเริ่มร่วมมือกับคณาจารย์ในภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้ง "ศูนย์กุมารบริรักษ์" เพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย อบรมแพทย์ประจำบ้านและบุคลากรทุกระดับให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มและผลักดันโครงการศิริราชสัปปายสถาน เพื่องานบริรักษ์ เพื่อเป็นสถานบริบาลกึ่งบ้าน สำหรับผู้ป่วยระยะท้าย ภายใต้การบริหารจัดการของโรงพยาบาลศิริราช
ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ณัฐเมศร์ วงศ์สิริฉัตร ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์อาวุโส สาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปาก มีความเชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมช่องปากและการผ่าตัดฟันคุด ผลงานดีเด่นด้านการสอน มีตำราที่ใช้ในการเรียนการสอนสำหรับนิสิตนักศึกษาทันตแพทย์ทั่วประเทศไทยมากที่สุด ผลงานดีเด่นด้านการวิจัย มี citation จากงานวิจัยที่ลงตีพิมพ์ทางคลินิกมากจนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์เงินเดือนขั้นสูง หรือ ศาสตราจารย์อาวุโส เป็นอาจารย์ผู้มีความโอบอ้อมอารี มีความเป็นกันเอง มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มุ่งทำคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ เป็นตัวอย่างที่น่ายกย่องแก่คณาจารย์ นักศึกษา และวงการทันตแพทย์
ศาสตราจารย์ ดร.ปทุมรัตน์ ตู้จินดา ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นนักเคมีที่มีความเชี่ยวชาญด้านสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สามารถแยกสารที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้บริสุทธิ์ และศึกษาหาโครงสร้างทางเคมีได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ตลอดจนมีความเชี่ยวชาญทางด้านการใช้เทคนิคทางสเปโทรสโคปีในการพิสูจน์โครงสร้างของสารเคมี สามารถนำไปต่อยอดวิจัยในสาขาอื่นต่อไป นอกจากนี้ยังสามารถทำวิจัยต่อยอดจนสามารถผลิตสารให้ความหวาน stevioside และ rebaudioside A เพื่อใช้แทนน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ต้องการควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากเป็นสารที่ไม่มีแคลอรี่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อผลิตในระดับ pilot scale