FETCO NIDA แถลง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน FETCO NIDA Investor Sentiment Index เดือนธันวาคม 2558”

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 23, 2015 15:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบจากดัชนีในเดือนที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยฉุดจากจากปัจจัยสถานการณ์ต่างประเทศและเหตุการณ์ไม่แน่นอนเป็นหลัก ส่งผลให้ดัชนีอยู่ในกรอบทรงตัว (Neutral) นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO NIDA Investor Sentiment Index) ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้ลงทุน 4 กลุ่มในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีต่อระดับดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกรอบทรงตัว (Neutral)" อันเนื่องมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยฉุดจากสถานการณ์ต่างประเทศและเหตุการณ์ไม่แน่นอน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงเล็กน้อย ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กุมภาพันธ์ 2559) ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 89.42 (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 0 - 200) ปรับตัวลดลง 10.69% จากดัชนีในเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 100.12 โดยดัชนีในแต่ละกลุ่มนักลงทุนส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงมากที่สุดถึง 16.66% อยู่ที่ 83.34อยู่ในกรอบทรงตัว (Neutral) ในขณะที่ความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.09%อยู่ที่ 126.32 ปรับตัวเข้าสู่ระดับร้อนแรง (Bullish) หมวดอุตสาหกรรม ที่น่าสนใจ มากที่สุด คือ บริการรับเหมาก่อสร้าง (CONS) หมวดอุตสาหกรรม ที่ไม่น่าสนใจ มากที่สุด คือ เหล็ก (STEEL) ปัจจัยเชิงบวก ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ เศรษฐกิจในประเทศ ปัจจัยเชิงลบ ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ สถานการณ์ต่างประเทศและเหตุการณ์ไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น อาทิ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก การผ่อนคลายมาตรการเชิงนโยบาย (QE) การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ราคาน้ำมันในตลาดโลก อัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินที่มีความผันผวน ปัญหาการเมืองและสงครามระหว่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในประเทศบางประการที่ส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้น เช่น นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายในภาคครัวเรือน การกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล การบริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐ เป็นต้น ด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่าในปี 2559 สภาวะความผันผวนของการลงทุนในตลาดเกิดใหม่อาจมีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลักมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจของจีนที่อาจต้องใช้ทั้งมาตรการทางการคลังและการเงินมาช่วยหนุนเพื่อไม่ให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำกว่า 6.5% รวมถึงการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน อาทิ การลดดอกเบี้ยและ การลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ หรือ RRR เพื่อควบคุมสภาวะเงินไหลออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง นโยบายต่างๆ เหล่านี้ จะส่งผลให้ค่าเงินหยวนของจีนน่าจะอ่อนตัวได้อีก 3-5% เมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของค่าเงินบาทเองก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ โดยจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตามค่าเงินหยวนเช่นกัน ซึ่งจากเหตุการณ์จะส่งผลให้นักลงทุนสถาบันเองยังไม่รีบร้อนที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดไทย สำหรับนโยบายโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีการประมูลในปีหน้า และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาลจะช่วยซื้อเวลาไปได้บ้าง แต่รัฐบาลก็ควรที่จะรีบผลักดันให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนอย่างจริงจัง รวมถึงชักชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศให้มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมมูลค่าสูง เป็นต้น นายปริญญ์ กล่าว สอบถามข้อมูลและกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติม ได้ที่ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โทร 02 229 2902-3 หรือ Email:fetco@set.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ