กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--มรภ.สงขลา
นักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา ส่งสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์เรื่อง วิถีซาไกที่เปลี่ยนไป ตีแผ่ชีวิตซาไกในยุคที่ผืนป่าถูกรุกรานจากคนเมือง คว้ารางวัลชนะเลิศ สายฟ้าน้อย ครั้งที่ 11
ดร.ศุภฤกษ์ เวศยาสิรินทร์ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ในฐานะผู้ควบคุมทีม เปิดเผยว่า สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์เรื่องวิถีซาไกที่เปลี่ยนไป ผลงานนักศึกษาทีม Smile Shot Film ซึ่งประกอบด้วย น.ส.โรชีนา เจ๊ะแว นายชยากร วงศ์วรางกูร นายอับดุลเลาะห์ แวปูเต๊ะ และ น.ส.สุนิสา อิสเฮาะ จากโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา ได้รับรางวัลสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ดีเด่น ประเภทอัตลักษณ์วัฒนธรรม ในการประกวดรางวัลข่าวสายฟ้าน้อย ครั้งที่ 11 ประจำปี 2558 จัดโดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมกันนั้น สารคดีเรื่อง ผลักดันย่านเมืองเก่าสู่มรดกโลก ผลงานของนักศึกษาโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์อีกหนึ่งทีม ติด 1 ใน 10 เรื่องที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย โดยมีผลงานส่งเข้าประกวดจำนวน 62 เรื่อง จาก 22 สถาบันการศึกษา ซึ่งรางวัลนี้ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญสำหรับนักนิเทศศาสตร์และนักสื่อสารมวลชนในอนาคต
ดร.ศุภฤกษ์ กล่าวว่า การถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากสถานที่ในการถ่ายทำอยู่ในป่า การเดินทางจึงเข้าถึงยาก ประกอบกับฝนฟ้าไม่อำนวย เพราะเป็นช่วงฤดูฝนทำให้การถ่ายทำล่าช้า นอกจากนั้น ยังประสบปัญหาในการสื่อสารจากภาษาพูดที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วทีมนักศึกษาก็สามารถจัดทำสารคดีเรื่องนี้ได้สำเร็จ โดยได้นำเสนอวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของซาไกในปัจจุบัน อย่างเช่น การแต่งกาย จากเดิมที่ใช้ใบไม้มาห่อร่างกาย เปลี่ยนมาเป็นสวมใส่เสื้อผ้าแบบคนเมือง และอาศัยอยู่กับคนเมือง ฝึกพูดภาษาคนเมือง จับจ่ายซื้อของแบบคนเมือง ส่งผลให้ต้องทิ้งความเป็นซาไกและปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับความเจริญให้ได้มากที่สุด และได้ฝากข้อคิดที่น่าสนใจในตอนท้ายเรื่องว่า เมื่อความเจริญทำให้ผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์น้อยลง ทำให้วิถีชีวิตของซาไกเปลี่ยนไปจากอดีต โดยต้องดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ในทุกวันของปัจจุบัน อนาคตอันไกลหากคนเมืองยังคงบุกรุกผืนป่าทำให้ป่าขาดสมดุล ซาไกคงเป็นแค่ชนกลุ่มหนึ่งที่เด็กๆ รุ่นหลังรู้จักกันแค่วรรณคดีเรื่องหนึ่งเท่านั้น