กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--EXIM BANK
นายมนัส แจ่มเวหา ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ภาคส่งออกของไทยในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจาก 2 ปัจจัย คือ ฐานที่ต่ำในปี 2558 และเศรษฐกิจโลกโดยรวมโดยเฉพาะสหรัฐฯ มีแนวโน้มกระเตื้องดีขึ้นในปีหน้า แต่คาดว่าภาคส่งออกของไทยยังถูกรุมเร้าจากปัจจัยกดดันหลายด้าน อาทิ ภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปจีนทั้งเพื่อบริโภคในจีนเองและผลิตเพื่อส่งออกต่อ ตลาดหลักสำคัญอย่างญี่ปุ่นและยูโรโซนยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะและหนี้ภาคครัวเรือน ประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของไทยยังได้รับผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อลดลง และความผันผวนของค่าเงิน เป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee : FOMC) ของสหรัฐฯ ที่สวนทางกับทิศทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ โดยเฉพาะยูโรโซน
ประธานกรรมการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า ภายใต้ปัจจัยกดดันหลายด้านดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมรับมือด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร รวมถึงเทคโนโลยี เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในภาวะที่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง
นายมนัส กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในช่วงสิ้นปี 2558 ยังช่วยประคับประคองภาคส่งออกของไทยอยู่ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นจากการเพิ่มจำนวนของผู้บริโภคที่มีระดับรายได้ปานกลาง และได้รับอานิสงส์จากการลดภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการ แม้ว่าผู้ประกอบการไทยจะต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดเหล่านี้
สินค้าและบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวดีในปี 2559 ได้แก่ ข้าวและน้ำตาลทราย คาดว่าจะได้รับผลดีจากราคาในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับขึ้นจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) กระดาษและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ปิโตรเลียม มีแนวโน้มขยายตัวจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของคู่ค้าหลักโดยเฉพาะอาเซียน และปิโตรเคมี ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ
ส่วนสินค้าที่มีสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักและมีโอกาสขยายตัวจากการนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวขึ้น ได้แก่ ผัก-ผลไม้ (สด แห้ง กระป๋อง และแปรรูป) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับแท้ นอกจากนี้ สินค้าที่ไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรองรับตลาดโลก และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามภาพรวมของตลาดโลก แม้ไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระตุ้นตลาด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ยางยานพาหนะ ถุงมือยางและถุงยางคุมกำเนิด รถยนต์สำเร็จรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ และแผงวงจรไฟฟ้า สำหรับธุรกิจอื่นๆ ที่มีทิศทางดี ได้แก่ เอทานอลและไบโอดีเซล ได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ จึงช่วยกระตุ้นความต้องการใช้ในประเทศให้เพิ่มขึ้น พลังงานไฟฟ้า มีแนวโน้มดีจากการที่ไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียน นับว่ามีโอกาสในการขยายตัวอีกมาก
สำหรับภาคบริการที่ยังขยายตัวดีในปี 2559 อาทิ โรงแรม ได้อานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันกลายเป็นตลาดนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย บริการสุขภาพ มีปัจจัยเกื้อหนุนจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร และจำนวนผู้สูงอายุ รวมถึงกระแสใส่ใจในสุขภาพที่มีมากขึ้น ขณะที่ชื่อเสียงของไทยในการเป็นแหล่งรักษาพยาบาลและศัลยกรรมความงามช่วยดึงดูดผู้ป่วยต่างชาติได้อย่างต่อเนื่อง รับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พาณิชยนาวี โดยเฉพาะเรือน้ำมัน ได้ประโยชน์จากความต้องการขนส่งน้ำมันในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงอาเซียน และโทรคมนาคม ซึ่งเติบโตตามปริมาณการใช้บริการข้อมูล (Non-voice) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการขยายขอบเขตการให้บริการในระบบ 3G และ 4G ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงลงทุนเพื่อพัฒนาระบบที่ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการ
"EXIM BANK พร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยทั้งรายเล็ก กลาง และใหญ่เข้าถึงแหล่งเงินทุน ข้อมูลข่าวสาร และบริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ สำหรับการเริ่มต้นและขยายธุรกิจของไทยในตลาดโลก ทำให้ภาคส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวในปี 2559 ท่ามกลางปัจจัยท้าทายและโอกาสที่ยังมีอยู่ในตลาดต่างๆ" นายมนัส กล่าว