ไทยร่วมเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก ชูบทบาทภาคเกษตร แก้ปัญหาร่วมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ข่าวทั่วไป Thursday December 24, 2015 13:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ไทยร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม และแสดงความตั้งใจลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 - 25 ภายในปี ค.ศ. 2030 ด้าน สศก. พร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมแนวทางบทบาทของไทย เพื่อร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อที่ประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติ ในเดือนมิถุนายน ศกหน้า นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้ร่วมประชุมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP 21) ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 11 ธันวาคม 2558 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อหารือให้ได้ผลลัพธ์ในรูปแบบของพิธีสารหรือข้อตกลงใหม่ว่าด้วยความร่วมมือภายใต้อนุสัญญาฯ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศภาคีภายหลังปี ค.ศ. 2020 การประชุมดังกล่าว มีประเทศสมาชิกทั่วโลก 196 ประเทศ โดยนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เดินทางมาร่วมในพิธีเปิดและได้กล่าวถ้อยแถลงในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทยต่อที่ประชุม พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นกรณีพิเศษ และให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันทั้งในเรื่องเงินทุน งานวิจัย และองค์ความรู้เพื่อการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทย ได้แสดงความตั้งใจว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 - 25 ภายในปี ค.ศ. 2030 มุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผลักดันการใช้พลังงานทดแทนในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยให้มากขึ้น ขจัดการบุกรุกป่า และทำแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการให้บรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติอีกด้วย พร้อมนี้ ที่ประชุม COP สมัยที่ 21 ได้มีมติเห็นชอบ "ร่างข้อตกลงว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก" หรือเรียกว่า "ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)" โดยตั้งเป้าหมายจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิโลกเฉลี่ยไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับที่ปล่อยอยู่ในปัจจุบัน และจะจำกัดไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสหากเป็นไปได้ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วจะให้การสนับสนุนเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา จำนวน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และจะมีการทบทวนความคืบหน้าทุกๆ 5 ปี โดยหลังจากนี้ แต่ละประเทศต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาให้สัตยาบัน ซึ่งจะต้องมี อย่างน้อย 55 ประเทศให้สัตยาบัน และประเทศเหล่านั้นต้องมีอัตราปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันคิดเป็นร้อยละ 55 ของโลกขึ้นไป ข้อตกลงดังกล่าว จึงจะมีผลบังคับใช้ได้ในปี ค.ศ. 2020 นอกจากนี้ ยังมีการประชุมองค์กรย่อยว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมัยที่ 43 (The 43 rd session of Subsidiary Body for Scientific and Technological Advice: SBSTA 43) โดยมีการเจรจาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรในรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการ เช่น ประเด็นการบ่งชี้มาตรการการปรับตัว โดยพิจารณาความหลากหลายของระบบการเกษตร ระบบความรู้ดั้งเดิม ระดับความแตกต่างของแต่ละประเทศ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวิจัยและพัฒนา และประเด็นการบ่งชี้ประเมินแนวทางปฏิบัติและเทคโนโลยีด้านการเกษตร ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน ความมั่นคงอาหาร และการมีภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ สศก. จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อคิดเห็นและบทบาทของไทยในการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหา และการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ