กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--ศูนย์บริการวิชาการ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ พบเลือดวัว มีไซโตไคน์ที่มีประโยชน์ต่อการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและป้องกันการเกิดแผลเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง คิดค้นไซโตไคน์ที่ได้จากเกล็ดเลือดวัวให้อยู่ในรูปแบบ เจลพร้อมใช้ (HemaYouth) เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางเพื่อลดเลือนริ้วรอย พร้อมเตรียมนำเลือดสัตว์ในอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่า เกิดประโยชน์ทั้งทางการแพทย์และเศรษฐกิจ
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดถึงผลวิจัยเกี่ยวกับ ไซโตไคน์ ซึ่งเป็นโปรตีนขนาดเล็กที่มีความสำคัญมากต่อการส่งสัญญาณของเซลล์เพื่อทำให้เกิดการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้อย่างเป็นปกติ ไซโตไคน์มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการอักเสบและการหายของบาดแผล และเนื่องมาจากการบาดเจ็บมักจะมีการเสียหายของหลอดเลือดร่วมด้วยเสมอซึ่งหลอดเลือดมักจะหลั่งสารไซโตไคน์ชนิดต่าง ๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นกระบวนการหายของบาดแผล อย่างไรก็ตาม ในบางสภาวะเช่น ผู้สูงอายุ ผู้ขาดสารอาหารหรืออยู่ในภาวะเครียด การหลั่งของไซโตไคน์เหล่านี้อาจลดลงทำให้กระบวนการหายของบาดแผลเป็นไปอย่างล่าช้ารวมถึงอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้ในที่สุด การเพิ่มปริมาณไซโตไคน์โดยใช้กระบวนการสังเคราะห์เพื่อเลียนแบบธรรมชาติเป็นไปได้ยากเนื่องจากไซโตไคน์มีโมเลกุลที่ซับซ้อนมาก ในทางปฏิบัติ หากผู้ป่วยมีบาดแผลใหญ่ หายช้า แพทย์อาจใช้ไซโตไคน์ในการกระตุ้นการหายของบาดแผล หรือในกระบวนการเสริมความงามก็อาจมีการฉีดไซโตไคน์เหล่านี้เพื่อกระตุ้นการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ ซึ่งในทุกกรณีต้องสกัดไซโตไคน์จากเกล็ดเลือดของผู้ป่วยเอง นอกจากผู้ป่วยจะได้รับความเจ็บปวดแล้ว ยังต้องอาศัยเวลาในการสกัดเนื่องจากไม่สามารถเตรียมไว้ล่วงหน้าได้ อีกทั้งยังต้องใช้เลือดจากผู้ป่วยเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ส่งผ่านมาทางเลือดด้วย
ด้วยประโยชน์ของไซโตไคน์ที่ได้จากเกล็ดเลือด แต่ปัญหาของการใช้เลือดมนุษย์ทำให้มีการพัฒนาสกัดไซโตไคน์จากเลือดสัตว์ด้วยสภาวะเค้น เพื่อให้ได้ไซโตไคน์ที่มีประสิทธิภาพและปริมาณที่เหมาะสมที่สุด จากการทดสอบเลือดสัตว์หลายชนิดพบว่าเลือดวัว มีไซโตไคน์ที่มีประโยชน์ต่อการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและป้องกันการเกิดแผลเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด จากกระบวนการดังกล่าวสามารถเตรียมไซโตไคน์ที่ได้จากเกล็ดเลือดวัวให้อยู่ในรูปแบบเจลพร้อมใช้ (HemaYouth)
นอกจากนี้ยังสามารถนำสารดังกล่าวมาใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางเพื่อลดเลือนริ้วรอยได้อีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการนำเลือดสัตว์ในอุตสาหกรรมมาเพิ่มมูลค่าเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางการแพทย์และเศรษฐกิจ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ กล่าว