กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--ปตท.สผ.
ปตท.สผ.ส่งมอบอาคารสื่อการเรียนรู้พร้อมหุ่นจำลองรูปแบบสันนิษฐานพระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยาและเส้นทางศึกษาโบราณสถานซึ่งปรับปรุงใหม่ให้กับกรมศิลปากร ในการพัฒนาการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกเพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทยให้กับผู้เยี่ยมชมทุกกลุ่ม ภายใต้โครงการความร่วมมืออนุรักษ์มรดกไทย มรดกโลกของ ปตท.สผ.
การจัดสร้างอาคารสื่อการเรียนรู้พร้อมหุ่นจำลองรูปแบบสันนิษฐานพระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา และการปรับปรุงเส้นทางศึกษาโบราณสถานและป้ายสื่อความหมายในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งของบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการอนุรักษ์มรดกโลกทางวัฒนธรรมระหว่าง ปตท.สผ. และกรมศิลปากร ซึ่งได้ลงนามร่วมกันตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ในการร่วมอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลกซึ่งรวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลด้านวิชาการ จัดทำสื่อการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในแหล่งปฏิบัติงาน ตลอดจนการประชาสัมพันธ์กิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชรและอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เพื่อการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์มรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย ซึ่ง ปตท.สผ.ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการ ประมาณ 70 ล้านบาท
สำหรับบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการอนุรักษ์มรดกโลกทางวัฒนธรรม ระยะที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2557 ปตท.สผ. และกรมศิลปากร ได้ร่วมกันจัดทำโครงการวิเคราะห์ทางสถาปัตยกรรมและทางโบราณคดีในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชรและสร้าง "รูปแบบสันนิษฐาน" ของโบราณสถาน 29 แห่งในรูปแบบ 3 มิติ บนแผ่นป้ายกระเบื้องเคลือบ รวมถึง การผลิตสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น หนังสือภาพเชิงซ้อนของซากโบราณสถาน การ์ตูนแอนิเมชั่นอุทยานประวัติศาสตร์ การสร้างป้ายรูปแบบสันนิษฐานและแบบจำลองเพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ง่ายต่อความเข้าใจที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระราม วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ วัดใหญ่ชัยมงคล และวัดแม่นางปลื้ม โดยจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2557 นี้
สำหรับระยะที่ 2 พ.ศ. 2557 – 2560 นั้น จะส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกโลกทางวัฒนธรรม และจัดทำสื่อการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย ป้ายข้อมูลโบราณสถาน ป้ายรูปแบบสันนิษฐานโบราณสถาน แบบจำลองพระราชวังโบราณ อาคารนิทรรศการและจะปรับปรุงเส้นทางศึกษาโบราณสถานในพระราชวังโบราณพระนครศรีอยุธยาที่สามารถใช้รถเข็นสำหรับผู้พิการได้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวในการหาข้อมูลจากสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ในพื้นที่พระราชวังโบราณ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์มรดกโลกทางวัฒนธรรม
การจัดสร้างอาคารและหุ่นจำลองพระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยาในครั้งนี้ นับเป็นงานที่มีความยากลำบาก เนื่องจากพระราชวังโบราณในปัจจุบันเหลือเพียงซากฐานของอาคาร ดังนั้น จึงได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความชำนาญหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านโบราณคดี ด้านศิลปะ ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะไทย และด้านประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งได้แก่ ศาสตรจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำรูปแบบสันนิษฐานครั้งนี้ ซึ่งต้องศึกษาหาข้อมูลในด้านต่าง ๆ และต้องได้รับการตรวจสอบจากกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนจัดทำหุ่นจำลองรูปแบบสันนิษฐานแบบสามมิติด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้สัดส่วนที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดี
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า "ปตท.สผ. มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของประเทศร่วมกับกรมศิลปากร?และหวังว่าอาคารสื่อการเรียนรู้พระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยานี้?จะเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความสำคัญของแหล่งมรดกโลกให้กับชนรุ่นหลังต่อไป"
ด้านนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า "การดำเนินงานในระยะที่ 2 ได้เสร็จสมบูรณ์ด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดีระหว่างกรมศิลปากรและปตท.สผ. ผมขอขอบคุณที่ปรึกษาโครงการที่ได้ให้ข้อมูลสำคัญทางวิชาการ และคณะทำงานโครงการทุกท่านที่มีส่วนสำคัญให้การดำเนินโครงการสำเร็จลุล่วงด้วยดี ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นอีกส่วนสำคัญในการพัฒนาการบริหารจัดการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกให้คงอยู่สืบไป"
ในโอกาสนี้ ปตท.สผ. ได้นำน้อง ๆ ผู้ใช้รถเข็นจากโรงเรียนศรีสังวาลย์ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 40 คน มาร่วมสัมผัสและทัศนศึกษาเส้นทางที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ในครั้งนี้ด้วย โดย ปตท.สผ. จะเดินหน้าส่งเสริมให้มีกิจกรรมการเรียนรู้คุณค่ามรดกโลกทางวัฒนธรรม เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคมอย่างต่อเนื่องต่อไป