กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "A+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" ซึ่งอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินในแถบเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนความหลากหลายของแหล่งถ่านหินและฐานลูกค้า สภาพคล่องทางการเงินที่ดี ตลอดจนรายได้เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงแผนการนำบริษัทย่อยคือ บมจ. บ้านปู เพาเวอร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและความสำเร็จในการลดต้นทุนและเงินลงทุนของบริษัทด้วย ในขณะที่ภาวะอุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรมถ่านหิน ความต้องการใช้ถ่านหินทั่วโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในโลก ตลอดจนมาตรการที่เข้มงวดของประเทศต่าง ๆ ที่จะกำหนดใช้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทบ้านปูจะยังคงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมถ่านหิน โดยบริษัทยังคงรักษาวินัยทางการเงินและการบริหารการเงินอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินที่ดีในภาวะที่อุตสาหกรรมถ่านหินมีความท้าทายในปัจจุบัน ทั้งนี้ เงินปันผลรับที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจไฟฟ้าและการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมถ่านหินได้บางส่วน นอกจากนี้คาดว่าเงินที่จะได้จากการขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (Initial Public Offering – IPO) จากการนำบริษัทบ้านปู เพาเวอร์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะช่วยลดภาระหนี้และเพิ่มกระแสเงินสดส่วนเกินสำหรับรองรับการชำระหนี้ของบริษัท
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดตราบใดที่ราคาถ่านหินยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากราคาถ่านหินลดลงอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่ำกว่าความคาดหมาย ในขณะเดียวกัน การลดลงเป็นระยะเวลานานของกระแสเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลให้อันดับเครดิตถูกปรับลดลง
บริษัทบ้านปูเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในเอเชียซึ่งก่อตั้งในปี 2526 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตถ่านหินในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทมีเหมืองถ่านหินอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย จีน และมองโกเลีย ธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัท โดยในปี 2557 กำไรจากธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียมีสัดส่วน 50% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในขณะที่กำไรจากประเทศออสเตรเลียคิดเป็น 30% ของ EBITDA ส่วนกำไรจากประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 11% ของ EBITDA และกำไรจากประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 9% ของ EBITDA เมื่อพิจารณาจากประเภทของธุรกิจแล้ว กำไรจากธุรกิจถ่านหินคิดเป็นสัดส่วน 80%-85% ของ EBITDA ในปี 2556 จนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ในขณะที่กำไรส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจไฟฟ้า
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 บริษัทผลิตถ่านหินได้ 32.1 ล้านตัน ลดลง 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ เดือนกันยายน 2558 ปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียมีจำนวนรวม 596 ล้านตัน ปริมาณสำรองของเหมืองอินโดนีเซียและออสเตรเลียดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตประมาณ 13 ปี
ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ได้รับแรงกดดันจากราคาถ่านหินที่ลดลง ทั้งนี้ ราคาขายเฉลี่ยของถ่านหินในเหมืองอินโดนีเซียลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.8% เป็น 58.85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นได้ดีที่ 35.0% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เทียบกับ 34.0% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทยังคงดำเนินการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องซึ่งรวมถึงการลดอัตราส่วนหน้าดินต่อถ่านหิน (Stripping Ratio) นอกจากนี้ เหมืองที่อินโดนีเซียยังได้รับผลดีจากราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงกว่า 40% เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงคิดเป็น 25% ของต้นทุนการผลิต ส่วนเหมืองที่ประเทศออสเตรเลียนั้น ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ราคาขายเฉลี่ยของถ่านหินปรับตัวลดลงเป็น 65.83 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อตัน ซึ่งลดลงเพียง 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลง 16.7% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้สัญญาขายถ่านหินในราคาคงที่ซึ่งมีสัดส่วน 60% ของการขายถ่านหินทั้งหมดก็ช่วยให้ราคาขายถ่านหินในประเทศออสเตรเลียปรับตัวลดลงไม่มาก อย่างไรก็ตาม เหมืองออสเตรเลียผลิตได้น้อยกว่าเป้าหมายเนื่องจากประสบปัญหาการผลิตในเหมือง Mandalong และ Mayuna และเหมือง Springvale ได้รับใบอนุญาตต่อสัญญาการทำเหมืองล่าช้า ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของเหมืองออสเตรเลียลดลงเป็น 27.4% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เทียบกับ 29.1% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อสุทธิกับค่าภาคหลวงที่ลดลงแล้ว อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจถ่านหินของบริษัทค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ 22.2% เทียบกับ 22.8% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม แม้อัตรากำไรจะทรงตัว แต่ราคาขายถ่านหินที่ลดลงก็ทำให้กำไรต่อตันลดลงเป็น 12.60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 จาก 15.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557
ธุรกิจไฟฟ้ารายงานกำไรลดลงเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงประจำปีและค่าใช้จ่ายจากการซ่อมนอกแผนของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยของบริษัท บริษัทยังมีการรับรู้ขาดทุนตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากโรงไฟฟ้าหงสาซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศลาวเนื่องจากโรงไฟฟ้าเพิ่งเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และมีผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากอัตราแลกเปลี่ยนอันเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ EBITDA รวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เท่ากับ 336 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 33.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ความพยายามในการลดต้นทุนและการชะลอแผนการลงทุนบางส่วนออกไปทำให้ภาระหนี้ของบริษัทยังอยู่ในระดับเดิมแม้ว่าราคาถ่านหินจะลดลง เงินกู้สุทธิมีจำนวน 2,727 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ เดือนกันยายน 2558 เทียบกับ 2,771 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2556 และ 2,812 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงมาอยู่ที่ระดับ 56.7% ณ เดือนกันยายน 2558 จาก 52.5% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 เนื่องจากการลดลงของส่วนของผู้ถือหุ้น การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ออสเตรเลียเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เกิดผลต่างจากการแปลงค่าข้อมูลทางการเงินที่มีผลกระทบต่อส่วนของผู้ถือหุ้น แม้ภาระหนี้จะอยู่ในระดับเดิม แต่การลดลงของ EBITDA ทำให้กำไรส่วนเกินเพื่อรองรับการชำระหนี้ของบริษัทลดลง โดยอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA Interest Coverage Ratio) ลดลงเป็น 3.6 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 จาก 5.6 เท่าในช่วงเดียวกันของปี 2557 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเป็น 3.9% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) เทียบกับระดับ 11.5% ในปี 2557
ราคาถ่านหินยังคงอ่อนแอในระยะสั้นเนื่องจากการลดลงของอุปทานถ่านหินยังไม่สมดุลกับอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงเปราะบาง ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ถ่านหินประมาณ 50% ของการใช้ถ่านหินทั่วโลกมีการนำเข้าลดลง 39% ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 เศรษฐกิจที่ซบเซา ประกอบกับนโยบายการควบคุมมลพิษ และการสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศของรัฐบาลจีนทำให้จีนนำเข้าถ่านหินลดลง ดัชนีราคาถ่านหินอ้างอิง Newcastle Export Index ยังคงลดลงโดยอยู่ที่ระดับ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 เทียบกับ 59 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา การลงนามในข้อตกลงปารีสซึ่งว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกโดยประเทศสมาชิก 195 ประเทศส่งสัญญาณในเชิงลบต่ออุตสาหกรรมถ่านหิน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากข้อตกลงดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับความตั้งใจและความพยายามของกลุ่มประเทศสมาชิกในการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย
บริษัทยังคงให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน โดย ณ เดือนกันยายน 2558 บริษัทมีเงินสดในมือ 510 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีวงเงินกู้คงเหลือจากสถาบันการเงินรวมจำนวนประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บริษัทยังได้มีการขยายอายุเงินกู้ ตลอดจนกระจายการชำระคืนเงินต้น และลดค่าใช้จ่ายและการลงทุนด้วย บริษัทได้ปรับลดแผนลงทุนที่ไม่รวมการลงทุนเพื่อการบำรุงรักษาเหลือ 554 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับช่วงปี 2559-2563 เทียบกับการลงทุนรวม 717 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2555-2558 โดยจะเน้นเฉพาะการลงทุนที่ต่อเนื่องและจำเป็นรวมถึงการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความมั่นคงของผลการดำเนินงานในอนาคต แม้ราคาถ่านหินจะยังคงลดลงในปี 2559 แต่บริษัทจะยังคงรักษากระแสเงินสดจากการดำเนินงานไว้ได้ เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลง การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายตามแผน และการเริ่มรับรู้กำไรจากโรงไฟฟ้าหงสา โดยคาดว่ากำไรจากธุรกิจไฟฟ้าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในปี 2560-2561 เทียบกับ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558 นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการนำบริษัทย่อยคือบริษัทบ้านปู เพาเวอร์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ด้วย ซึ่งหากบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนได้สำเร็จตามแผนก็จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน อีกทั้งลดภาระหนี้ และทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะช่วยให้กระแสเงินสดส่วนเกินสำหรับรองรับการชำระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอีกด้วย
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BP165A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
BANPU184A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
BANPU195A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+
BANPU207A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
BANPU207B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
BANPU214A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
BANPU225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
BANPU234A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
BANPU247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
BANPU257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
BANPU264A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
BANPU234B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2566 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable