กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
วิศวกรไร้พรมแดนกำลังเป็นจริงเมื่อประตูประชาคมอาเซียนกำลังเปิดออกและเชื่อมโยง 10 ประเทศเข้าด้วยกันให้ติดต่อสื่อสารกันใกล้ชิดยิ่งขึ้น เมื่อเร็วๆนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ได้จัดการแข่งขันโต้วาทีภาษาอังกฤษ ประจำปี 2558 (MITSUBISHI ELECTRIC- FRESHMEN DEBATE CONTEST2015)โดยร่วมกับ บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเวทีคนรุ่นใหม่ได้แสดงออกเพื่อพัฒนาทักษะและศิลปะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ผสมผสานองค์ความรู้ เสริมศักยภาพ "คน" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยมีผู้สมัครเข้าแข่งขัน 1,400 คน, รอบแรกคัดเหลือ 10 ทีม, รอบรองชนะเลิศ 4 ทีม และ 2 ทีมเข้าชิงชัยในรอบชิงชนะเลิศ
ช่วงบ่ายบรรยากาศคึกคัก ณ ออดิทอเรียม หอประชุมใหญ่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เต็มไปด้วยนักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่ต่างมาลุ้นเชียร์เพื่อนๆ ที่แข่งขันโต้วาทีภาษาอังกฤษ ประจำปี 2558 (MITSUBISHI ELECTRIC-FRESHMEN DEBATE CONTEST2015) โดยมีคณะกรรมการตัดสินและคอมเม้นเตเตอร์ 6 ท่านได้แก่ มร. แพทริค ไดร์ชี่, มร.เดวิด โบชองป์, รศ.ดร. อุมา สีบุญเรือง, ครูติงลี่คนดัง หรือ อ.รัชตะ กิตติโกสินทร์, ดร.รัชนี กุลยานนท์, ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา มาให้คำวิจารณ์และแง่คิดมุมมองสำหรับทีมที่เข้าแข่งขัน อย่างสนุกสนานครบทุกรสชาติ โดยเกณฑ์การตัดสินประกอบไปด้วย เนื้อหามีความถูกต้องและสร้างสรรค์,ความคล่องในทักษะภาษาอังกฤษ, ความสามารถในการถ่ายทอดโน้มน้าว และสามารถควบคุมเวลาตามที่กำหนด มีความสามัคคีและการเตรียมความพร้อม ก่อนเปิดเวทีโต้วาทียังมี Special Talk เรื่อง "วิศวกร ฟันเฟืองสำคัญในศตวรรษที่ 21" จากคุณเรียวจิ อันโด กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด และ Inspiration Talk โดยครูพี่แนนคนดัง อริสรา ธนาปกิจ ผู้อำนวยการสถาบันภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ สร้างแรงบันดาลใจเพื่อการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับวิศวกรรุ่นใหม่ ภายในงานมีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะสนุกสนาน สอดแทรกสาระความรู้พร้อมเกมและของรางวัลมากมาย
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า "การแข่งขันโต้วาทีภาษาอังกฤษ ประจำปี 2558 เป็นอีกหนึ่งกิจกิจกรรมที่กระตุ้นให้นักศึกษาได้เอ็กเซอร์ไซส์การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อวิชาชีพวิศวกร ลับคมความคิดวิเคราะห์ พัฒนาบุคลิกภาพ กล้าแสดงออก มีเจตคติที่ดีต่อการใช้ภาษาอังกฤษ ส่งเสริมการเสาะแสวงหาความรู้และการทำงานเป็นทีม เตรียมความพร้อมก่อนก้าวสู่ตลาดแรงงานของประเทศและในประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้มีการปฏิรูปการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศไทยให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและสังคมโลกอนาคต ซึ่งวิศวกรในอนาคตจำเป็นอย่างยิ่งต้องรอบรู้ คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีคุณธรรมและความเป็นผู้นำที่จะร่วมขับเคลื่อนให้ประเทศไทย และที่ขาดไม่ได้คือความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ เนื่องจากในอนาคตวิศวกรจะต้องสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ได้ในระดับสากลทั้งวิชาการ การปฏิบัติงาน และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มาจากสังคมต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมได้"
คุณเรียวจิ อันโด กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "โครงการแข่งขันการโต้วาทีประจำปี 2558 สนับสนุนศักยภาพของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ให้เขามีความพร้อมในทุกด้าน คือ การเป็น "คนเก่ง" มีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับวิชาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ศึกษาอยู่ (Engineering Skills) และการเป็น "คนมีทักษะ" (Soft Skills)ได้แก่ ทักษะในการสื่อสาร, การทำงานเป็นทีม รวมถึงการสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาทางการของอาเซียน และมีความสำคัญมากในการติดต่อธุรกิจระดับสากล ทั้งนี้หากนักศึกษามีความรู้ความสามารถครบทั้งสองด้านนี้ ก็สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับตนเอง ก้าวสู่โลกแห่งการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นฟันเฟืองทีสำคัญในการพัฒนาสังคมประเทศชาติและอาเซียนให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป"
ผลรอบชิงชนะเลิศ นางสาวปัณณธร ตั้งรุ่งเรืองชัย หัวหน้าทีมฝ่ายค้าน จ๊อบเกียแบม (JOBGIABAM) คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันโต้วาทีภาษาอังกฤษ ประจำปี 2558 ภายใต้ญัตติ เราควรศึกษาต่อหลังการเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์(Should We Continue Studying after Engineering Graduation) กล่าวว่า "ทีมของเรามีสมาชิก 3 คน จากภาควิชาวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ วันนี้รู้สึกตื่นเต้นดีใจสุดๆ กับรางวัลชนะเลิศ เราเป็นฝ่ายค้านในการศึกษาต่อหลังเรียนจบเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลว่า ควรทำงานหลังจากเรียนจบในระดับปริญญาตรี เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ จะทำให้เราประสบความสำเร็จ มากกว่าการเลือกศึกษาต่อ เพราะไม่ได้เรียนรู้อยู่แค่ในห้องเรียน แต่ได้ประสบการณ์โดยตรงจากการปฏิบัติจริง เศรษฐกิจยุคดิจิตอลต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ต้องอาศัยกำลังสำคัญคือคนทำงานที่มีความรู้และประสบการณ์มาเป็นผู้พัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ไปแข่งขันกับเวทีระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลกได้ จากสถิติในปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยมีประชากรที่กำลังทำงาน 55.29 ล้านคน ประชากรที่กำลังเรียนหนังสือ 4.44 ล้านคน ผู้ที่ทำงานนับว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของสินค้าและแบรนด์ของไทย สร้างรายได้ให้เกิดการหมุนเวียนพัฒนาเศรษฐกิจไทย คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นการทำงานย่อมเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตและความสำเร็จ นำวิชาการมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในโลกความเป็นจริง"
นายโชติรวี ฉัตรพัฒนศิริ หัวหน้าทีมฝ่ายสนับสนุน จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล กล่าวว่า "ทีมของเรามีเวลาฝึกซ้อมน้อย แต่ซ้อมหนักมาก นับเป็นความประทับใจและกำไรของชีวิตที่ครั้งหนึ่งได้มาโต้วาทีเป็นภาษาอังกฤษบนเวที ต่อหน้าผู้ชมหลายร้อยคน ยิ่งแข่ง ยิ่งทำให้เราเข้าใจการโต้วาทีมากขึ้น และรับรู้ว่าระดับภาษาอังกฤษของเรา อยู่ระดับไหน ในการฝึกซ้อมพวกเราจะฟังเพลงหรือดูภาพยนตร์ที่เป็นซาวด์แทร็ก ด้วย เพื่อเพิ่มความคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษและการฝึกพูดให้ชัดเจนฉะฉาน มีเสียงสูงต่ำเน้นย้ำ เพิ่มน้ำหนักให้ประเด็นโต้วาทีน่าสนใจและเห็นคล้อยตาม...เราเป็นฝ่ายสนับสนุน การศึกษาต่อเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (Continuing for self-development) ด้วยเหตุผลว่า การเรียนต่อเป็นการพัฒนาตนเองในระดับความรู้ขั้นสูงขึ้นไปและประสบการณ์ให้ต่อเนื่อง ในปัจจุบันมีหลายหลักสูตรใหม่ๆปริญญาโท-เอกที่เปิดสอนตอบรับความต้องการของตลาดแรงงานในระดับสากลและประชาคมอาเซียน ผลิตให้บัณฑิตเป็นวิศวกรที่มีคุณภาพของสังคมโลก ดังนั้น นักศึกษารุ่นใหม่จะได้รู้จริง ทำจริง ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเชิงวิชาชีพ ทุกวันนี้รัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคเอกชนที่เรียกว่า "สหกิจ" ฝึกประสบการณ์วิชาชีพทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ การเรียนต่อจึงช่วยให้เราได้พัฒนาตนเองให้มีความพร้อมก่อนออกไปประกอบอาชีพ และมีบทบาทในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
การแข่งขันโต้วาทีภาษาอังกฤษ เป็นอีกเวทีซึ่งเยาวชนไทยได้พัฒนาการสื่อสารภาษาอังกฤษ วาทศิลป์ ลับคมความคิด การค้นคว้าข้อมูล และลีลาการแสดงออกอย่างมั่นใจ