กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น
นางสาวภัทรา มณีรัตนะพร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและออกแบบผลิตภัณฑ์ บริษัท แลนดี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด สะท้อนมุมมองต่อภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 2559 ว่า จากการที่ตลาดรับสร้างบ้านมีการเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวในปีที่ผ่านมา ซึ่ง แลนดี้ โฮม มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การชะลอตัวที่เกิดจากสภาพเศรษฐกิจในช่วงขาลง แต่เป็นเพราะกระแสเศรษฐกิจส่งผลให้อุปสงค์คุณภาพในตลาดชะลอการสั่งสร้างบ้านทั้งที่มีความพร้อมด้านงบประมาณ ทั้งนี้ จากมาตรการที่ภาครัฐได้อัดฉีดสู่กลไกธุรกิจของประเทศตลอดครึ่งปีหลัง 2558 จะเป็นตัวปลดล็อกปัญหาความไม่เชื่อมั่นดังกล่าว และจะเป็นปัจจัยในการผลักดันให้อุปสงค์คุณภาพกลับเข้าสู่วงจรการตลาดของธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 2559 ซึ่งเมื่อธุรกิจโดยรวมเกิดความเคลื่อนไหว ก็จะดึงอุปสงค์ในระดับรองลงมาตัดสินใจสร้างบ้านด้วยเช่นกัน
ด้านปัจจัยที่ผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านต้องให้ความสำคัญในปี 2559 นั้น นางสาวภัทรา มณีรัตนะพร แสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า "ปัจจัยที่ผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านต้องคำนึงถึงน่าจะเป็นเรื่องคุณภาพงานก่อสร้างและแรงงานฝีมือ รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องต้นทุนการก่อสร้าง และการสร้างความพึงพอใจในการบริการ ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยต่างเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นเป็นวงจรเพราะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเริ่มเดินหน้าพัฒนาโครงการเมกกะโปรเจคและโครงการที่อยู่อาศัยตลอดจนโครงการด้านคอมเมอร์เชี่ยลต่างๆ จำนวนมาก หลังทุกฝ่ายเริ่มมั่นใจในสถานการณ์โดยรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้ตลาดเกิดความต้องการแรงงานทั้งระดับทั่วไปและระดับแรงงานฝีมือเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2559 จะเป็นปีแรกที่เปิด AEC อย่างเต็มรูปแบบ และจะเพิ่มโอกาสในเรื่องการจ้างงานให้แก่แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยมากขึ้นเพราะอัตราค่าจ้างในไทยยังสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่แรงงานฝีมือซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยก็จะมีโอกาสในการรับงานเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในส่วนนี้อาจทำให้เกิดวิกฤติด้านแรงงานฝีมือ ผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านจึงต้องเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งต้องวางแผนการจัดการในเรื่องระยะเวลาการก่อสร้างให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องเริ่มพัฒนาระบบการก่อสร้างที่พึ่งแรงงานฝีมือให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น หลายบริษัทจึงได้มีการพัฒนาบ้านสำเร็จรูปหรือพัฒนาระบบก่อสร้างกึ่งสำเร็จรูปเพื่อทดแทนอันถือเป็นเทรนด์ใหม่ของธุรกิจรับสร้างบ้านของไทยนับแต่นี้ไป และที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือการส่งต่องานบางส่วนให้แก่ทีมผู้รับเหมาที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อคงคุณภาพและความรวดเร็วมอบสู่มือผู้บริโภค"
หากพิจารณาถึงการแข่งขันของธุรกิจรับสร้างบ้านของไทยในปี 2559 นั้น นางสาวภัทรา วิเคราะห์ในประเด็นดังกล่าวว่า "ธุรกิจรับสร้างบ้านจะต้องวางกลยุทธ์เพื่อลดต้นทุนการก่อสร้างในขณะที่ยังคงมาตรฐานการก่อสร้างไว้ได้อย่างเดิมหรือดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาระบบบริหารจัดการการก่อสร้างก็เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อช่วยให้งานก่อสร้างเดินไปได้ตรงตามกำหนดเวลาและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ตลอดจนการขยายไลน์สินค้าให้เกิดขึ้นอย่างครบวงจร"
ทั้งนี้ ในปี 2558 ธุรกิจรับสร้างบ้านมีมูลค่ารวมประมาณ 11,000 บาท โดย แลนดี้ โฮม คาดการณ์ว่าตลาดรวมในปี 2559 นั้น น่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10% "ในปีนี้แลนดี้ โฮม มีอัตราการเติบโตในกลุ่มบ้านระดับราคา 15 ล้านบาทขึ้นไปอย่างมาก เนื่องจากลูกค้ามีความมั่นใจในความมั่นคงทางการเงินและทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ ตลอดจนพึงพอใจในแบบบ้านที่มีความสวยงามและครบครันด้านฟังก์ชั่น โดยในปี 2558 แลนดี้ โฮม มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5%" นางสาวภัทรากล่าวสรุป