กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
ทันทีที่การเจรจาการประชุม COP – 21 หรือ การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 ได้ถึงบทสรุป ณ กรุงปารีส เจ้าหน้าที่อาวุโสระดับนานาชาติได้รวมตัวกันที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) เพื่อพัฒนาศูนย์ Climate Change Asia – AIT โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นการตอบสนองจากภูมิภาคเอเชียที่มีต่อภัยคุกคามของภาวะโลกร้อนที่กำลังเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ
อดีตรองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ดร.บินดุ โลฮานี เป็นประธานในการประชุมเชิงกลยุทธ์ของเจ้าหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับเอดีบี ธนาคารโลก และ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักวิชาการ ที่ปรึกษา และผู้จัดการกองทุนรวม
ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้ตกลงที่จะผลักดันข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ของ 195 ประเทศ ในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส โดยการตั้งศูนย์กลางความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ศูนย์ Climate Change Asia ซึ่งตั้งอยู่ที่สถาบันเอไอที จะทำปฏิบัติงานในฐานะศูนย์แห่งความเป็นเลิศระดับภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยและการพัฒนา อีกทั้งการฝึกอบรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทาปัญหาดังกล่าวและการแก้ไขปรับปรุง
โลฮานี ซึ่งเคยควบคุมดูแลแผนกการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนกการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และความร่วมมือระดับภูมิภาค และสำนักงานระบบสารสนเทศและเทคโนโลยี ของเอดีบี กล่าวว่าสถาบันเอไอทีเป็นสถาบันนานาชาติที่มีความเหมาะสมที่จะเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถกับรัฐบาลต่างๆและภาคอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาทั่วภูมิภาคเอเชีย
โลฮานียังกล่าวอีกว่า เป้าหมายสำคัญของศูนย์ Climate Change Asia – AIT คือการหาโอกาสทางการเงินที่มีอยู่ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับเผยแพร่องค์ความรู้ "ทรัพยากรต่างๆมีอยู่แล้ว แต่เอเชียยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอเพื่อพัฒนาโครงการต่างๆที่สามารถแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้" โลฮานีย้ำ
อดีตเจ้าหน้าที่ของเอดีบียังพูดว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองและการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเกี่ยวพันกับรายได้ที่สูงขึ้นในเอเชียนั้น เป็นความท้าทายอันใหญ่หลวงสำหรับอนาคต "หากเราไม่ลดก๊าซเรือนกระจกในเมืองต่างๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะไม่ได้รับการแก้ไขได้" โลฮานีกล่าวเตือน
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ศูนย์กลางองค์ความรู้ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยนี้จะพึ่งพาเครือข่ายต่างๆระดับโลกของสถาบัน เอไอที ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของสถาบันฯเป็นอย่างมาก ศูนย์ดังกล่าวยังจะได้รับแรงผลักดันจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยกลุ่มใหม่ๆด้วย การสื่อสารสาธารณะและสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์จะเป็นปัจจัยสำคัญของงานศูนย์ดังกล่าว