กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติเพื่อให้การสังสรรค์ในช่วงเทศกาลรื่นเริงเป็นไปด้วยความปลอดภัย โดยผู้จัดงานควรใช้อุปกรณ์ไฟประดับที่มีสภาพปลอดภัย จัดพื้นที่ในการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ เลือกใช้เอฟเฟกต์ที่เหมาะสมกับสถานที่จัดงาน รวมถึงไม่ตกแต่งลูกโป่งบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย ส่วนประชาชนควรเลือกสถานที่จัดงานที่มีความปลอดภัย สังเกตและจดจำทางเข้า – ออก ประตูฉุกเฉิน ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจนขาดสติ เพิ่มความระมัดระวังเมื่ออยู่ใกล้จุดเสี่ยงอันตราย จะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายจากการสังสรรค์ในช่วงเทศกาลรื่นเริง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า งานสังสรรค์ในช่วงเทศกาลรื่นเริง มักตกแต่งสถานที่ด้วยไฟประดับ ลูกโป่ง รวมถึงใช้เอฟเฟกต์ประกอบการแสดงแสง สี เสียง ซึ่งบ่อยครั้งมักเกิดอุบัติเหตุ สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติเพื่อให้การสังสรรค์ในช่วงเทศกาลรื่นเริงเป็นไปด้วยความปลอดภัย ดังนี้ ผู้จัดงาน การตกแต่งไฟประดับ ไฟกะพริบ ใช้อุปกรณ์ไฟประดับที่มีสภาพปลอดภัย ไม่นำอุปกรณ์ที่ชำรุดมาใช้งาน ไม่ต่อไฟประดับที่ใช้กระแสไฟฟ้าเกินขนาด หากไฟประดับทำงานผิดปกติ ให้หยุดใช้งานและเปลี่ยนใหม่ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ติดตั้งไฟประดับในบริเวณที่ปลอดภัย อยู่สูงจากพื้นในระดับที่เหมาะสม ห่างจากบริเวณที่ชื้นแฉะ ไม่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ แนวสายไฟฟ้าแรงสูง พร้อมใช้สายรัดแบบพลาสติกแทนการ ใช้ลวดหมุดหรือตะปูตอกยึดสายไฟ เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว ทำให้ถูกไฟฟ้าดูดได้ การจุดพลุ ดอกไม้ไฟ จัดพื้นที่จุดพลุ ดอกไม้ไฟในบริเวณที่ปลอดภัย แยกออกจากพื้นที่จัดงาน ในที่โล่งแจ้ง ไม่อยู่ใกล้แนวสายไฟ หรือบริเวณที่มีวัตถุไวไฟ รวมถึงไม่ก่อให้เกิดประกายไฟบริเวณสถานที่จุดพลุ ดอกไม้ไฟ เพราะจะทำให้เกิดระเบิดและเพลิงไหม้ได้ การใช้เอฟเฟกต์ประกอบการแสดง เลือกใช้เอฟเฟกต์ที่เหมาะสมกับสถานที่จัดงาน กรณีใช้เอฟเฟกต์ที่มีประกายไฟประกอบการแสดง ให้เพิ่มความระมัดระวัง เป็นพิเศษ เพื่อป้องกันสะเก็ดไฟกระเด็นไปติดวัสดุอื่น ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ยึดความปลอดภัยเป็นหลักในการจัดแสดง โดยจัดวางระบบไฟฟ้า ระบบแสง สี เสียงที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เพิ่มความระมัดระวังในการใช้น้ำแข็งแห้ง (Dry Ice) เป็นควันประกอบการแสดง โดยไม่ใช้ในห้องที่ไม่มีระบบระบายอากาศ ห้องที่มีพื้นที่จำกัดหรือเพดานต่ำ เพราะอาจทำให้ผู้ที่อยู่บริเวณดังกล่าวขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ การตกแต่งลูกโป่ง เลือกใช้ลูกโป่งที่อัดด้วยก๊าซฮีเลียม ซึ่งติดไฟยาก ไม่ใช้ลูกโป่งที่อัดด้วยก๊าซไฮโดรเจน เพราะหากสัมผัสประกายไฟหรืออยู่ใกล้แหล่งความร้อน ลูกโป่งจะระเบิด ก่อให้เกิดอันตรายได้ ไม่ตกแต่งลูกโป่งบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย ไม่ผูกลูกโป่งจำนวนมากไว้ด้วยกัน เพราะหากลูกโป่งได้รับความร้อนหรือประกายไฟจะระเบิด กลายเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ การจัดปาร์ตี้โฟม ต้องติดตั้งสายดินและระบบ ตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ พร้อมตรวจสอบอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงไม่ติดตั้งบริเวณที่มีโครงเป็นโลหะ สายไฟ ต้องมีฉนวนหุ้ม เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วไหล ทำให้ได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด ประชาชน เลือกสถานที่จัดงานที่มีความปลอดภัย มีระบบเตือนภัย ถังดับเพลิง แผนผังเส้นทาง ทางออกฉุกเฉินอย่างน้อย 2 ทาง และมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของผู้ร่วมงาน เฉลิมฉลองอย่างมีสติ โดยสังเกตและจดจำทางเข้า – ออก ประตูฉุกเฉิน ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจนขาดสติ เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัย เพิ่มความระมัดระวังเมื่ออยู่ใกล้จุดเสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการประดับวัสดุตกแต่งที่เสี่ยงต่อการหล่นหรือล้มทับ จุดที่ติดตั้งเอฟเฟกต์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำและไฟ รวมถึงไม่ก่อให้เกิดประกายไฟบริเวณที่มีการประดับลูกโป่ง เพราะจะทำให้ลูกโป่งระเบิด ก่อให้เกิดอันตรายได้ กรณีพาเด็กไปร่วมงาน ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง เพราะความซุกซนของเด็ก อาจทำให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้งหากเกิดเหตุฉุกเฉินเด็กจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ การเพิ่มความระมัดระวังในการสังสรรค์ในช่วงเทศกาลรื่นเริง และการเรียนรู้ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอุบัติภัยต่างๆ จะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายจากการสังสรรค์ในช่วงเทศกาลรื่นเริง
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th