กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมเวทีคณะทำงานระดับภูมิภาคข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 8 ประเทศเวียดนาม เดินหน้าหารือในประเด็นความมั่นคงด้านน้ำ อาหาร และพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานการผลิตภาคเกษตร พร้อมหารือร่วมสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หวังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ให้เกษตรกรสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการร่วมประชุมคณะทำงานระดับภูมิภาคข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 8 (8th Lower Mekong Initiative Regional Working Group: 8th LMI RWG) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สศก. ได้เข้าร่วมในคณะผู้แทนไทยครั้งนี้ด้วย ระหว่างวันที่ 15–16 ธันวาคม 2558 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อร่วมกันหารือในประเด็นคาบเกี่ยว (Cross Cutting) ของเสาหลักต่างๆ ใน LMI ทั้งประเด็นความมั่นคงด้านน้ำ อาหาร และพลังงาน และประเด็น One Health ที่เชื่อมโยงระหว่างสุขภาพมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจของประเทศสมาชิก LMI เช่น การส่งเสริมพลังของสตรีและความเท่าเทียมกันทางเพศ เป็นต้น
การประชุม LMI ครั้งที่ 8 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ เวียดนาม สปป. ลาว กัมพูชา เมียนมา ไทย และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประเทศ Friends of Lower Mekong (FLM) เข้าร่วมประชุมด้วย ได้แก่ สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น ตลอดจนสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ประกอบธุรกิจข้ามชาติอย่างโคคา–โคล่า เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย
ในการนี้ ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาความมั่นคงด้านน้ำในภูมิภาค ซึ่งเป็นประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร และความมั่นคงด้านพลังงานจากการนำมาใช้เป็นปัจจัยพื้นฐานการผลิตภาคการเกษตร รวมถึงเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานอื่นๆ เช่น เชื้อเพลิงและถ่านหิน อีกทั้ง ยังมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมที่น้อยกว่า ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้ริเริ่มที่จะมีความร่วมมือกันในการวางแผนและตัดสินใจในการกำหนดนโยบายร่วมกัน ด้วยการสนับสนุนด้านความรู้ ข้อมูล ผลงานวิชาการ และการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญจากทางสหรัฐอเมริกาและ FLM
เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า นอกจากการประชุมในเรื่องความมั่นคงด้านน้ำ อาหาร และพลังงานแล้ว ยังมีการประชุมคณะทำงานระดับภูมิภาคในเสาหลักต่างๆ ได้แก่ เสาเกษตรและความมั่นคงอาหาร เสาความเชื่อมโยง เสาความมั่นคงด้านพลังงาน เสาสิ่งแวดล้อมและน้ำ และเสาสาธารณสุข โดยในส่วนของเสาเกษตรและความมั่นคงอาหารนั้น มีประเทศเมียนมาเป็นประเทศนำ (Lead Country) ของเสาดังกล่าว ซึ่งได้เสนอให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการทำเกษตรแบบยั่งยืน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้สามารถรองรับต่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ของเกษตรรายย่อย ตลอดจนให้เกษตรกรสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ต่อไป