กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยพฤติกรรมสุขภาพประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ในปี 2558 พบตื่นตัวป้องกันโรคติดต่อดีขึ้น ใช้ช้อนกลาง ล้างมือฟอกสบู่หลังใช้ส้วม ก่อนกินอาหารทุกครั้งเพิ่ม 6-20 เท่าตัว ส่วนพฤติกรรมการป้องกันโรคไม่ติดต่อ กว่าร้อยละ 80 ใส่ใจสุขภาพ พบแพทย์ แต่ต้องเพิ่มการกินผักผลไม้ ออกกำลังกาย ส่วนการดื่มสุรา สูบบุหรี่พบมีอัตราเพิ่มขึ้น นักสูบกว่าครึ่งเริ่มอัดบุหรี่ภายในครึ่งชั่วโมงหลังตื่นนอน
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษาได้ดำเนินการสุ่มสำรวจ เพื่อศึกษาและเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพรายบุคคลของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบสถานการณ์ แนวโน้มของพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย และเสียชีวิต เพื่อให้เกิดการตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอนามัยให้มีสุขภาพดี สามารถดูแลตนเองได้ จะทำให้ปัญหาการเจ็บป่วยลดลง ลดการสูญเสียค่ารักษาพยาบาลซึ่งมีปีละกว่า 2 แสนล้านบาทลงได้ โดยขณะนี้แนวโน้มการป่วยและเสียชีวิตของคนไทยมาจากโรคจากพฤติกรรมหรือโรควิถีชีวิตสูงขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นตัวการทำให้คนไทยอายุสั้น เสียชีวิตเร็วขึ้น ข้อมูลล่าสุดในปี 2557 สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานมี คนไทยเสียชีวิตทั่วประเทศ 435,624 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 29 หรือประมาณ 1 ใน 4 เสียชีวิตด้วยโรคพฤติกรรม 3 โรครวมกัน ได้แก่ มะเร็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงที่เหลือมาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุจราจร รวมทั้งโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ปอดบวม วัณโรค
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพล่าสุดในปี 2558 ช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 จากกลุ่มตัวอย่าง 3,578 คน ในพื้นที่ 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ในภาพรวมพบว่าสัญญาณพฤติกรรมอนามัย ส่วนบุคคลที่เน้น 2 เรื่องสำคัญคือ การใช้ช้อนกลางและการล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังใช้ห้องส้วมและก่อนรับประทานอาหารดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 6-20 เท่าตัว ประชาชนใช้ช้อนกลางตักอาหารทุกครั้ง เมื่อกินอาหารร่วมวงคนอื่น ร้อยละ 38 เพิ่มจากเดิมที่ใช้เพียงร้อยละ 6 ล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งก่อนกินอาหาร ร้อยละ 38 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีน้อยมากเพียงร้อยละ 3 และล้างมือด้วยสบู่ ทุกครั้งหลังขับถ่าย ร้อยละ 60 เพิ่มขึ้นกว่าเดิม 20 เท่าตัว พฤติกรรมนี้จะป้องกันโรคติดเชื้อที่ติดต่อกันทางการสัมผัสและติดทางอาหารและน้ำได้หลายโรค โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ และโรคทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วง เป็นต้น การล้างมือจะกำจัดเชื้อโรคออกไปได้กว่าร้อยละ 80 เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมโรคของประเทศแข็งแกร่งขึ้น
สำหรับในด้านของการป้องกันโรคไม่ติดต่อที่เน้นหนัก 3 อ.คือ การกินอาหาร การออกกำลังกาย และการจัดการอารมณ์เครียด มีทิศทางดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาแต่ยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เช่น การบริโภคอาหาร พบกินผักผลไม้อย่างน้อยครึ่งกิโลกรัมหรือวันละ 5 กำมือทุกวัน เพียงร้อยละ 19 ซึ่งตามหลักแล้วจะต้องมากกว่าร้อยละ 70 ขึ้นไป ประชาชนยังติดหวาน โดยร้อยละ 70 เติมน้ำตาลในอาหารแต่ละมื้อ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ร้อยละ 64 ในด้านการออกกำลังกาย พบร้อยละ 58 สูงกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 1 ในด้านการจัดการความเครียดพบเป็นเรื่องเดียวที่อยู่ในระดับดี โดยร้อยละ 70 ไม่มีเรื่องกังวล นอนหลับได้ดี เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ 2 ส. คือการสูบบุหรี่และดื่มสุรายังไม่ลดลง มีผู้ดื่มสุราร้อยละ 23 เพิ่มจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 8 มีผู้สูบบุหรี่ ร้อยละ 17 เพิ่มจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 2 โดยคนที่สูบจะเริ่มสูบบุหรี่มวนแรกหลังตื่นนอนภายในครึ่งชั่วโมงเกือบร้อยละ 60 และสูบมากกว่าวันละ 11 มวน ร้อยละ 45 จะต้องเร่งดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่องต่อไป
อย่างไรก็ตามการสุ่มสำรวจครั้งนี้ พบว่าประชาชน ร้อยละ 5 ที่ไม่ค่อยสนใจสุขภาพตัวเอง ขณะที่อีกกว่าร้อยละ 80 ให้ความใส่ใจและใช้บริการตรวจสุขภาพ โดยพบป่วยความดันโลหิตสูง ร้อยละ 16 ป่วยโรคเบาหวาน ร้อยละ 9 มีทิศทางเพิ่มจาก ปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยผู้ป่วยพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ร้อยละ 85 ส่วนจำนวนคนอ้วนพบ ร้อยละ 47 ลดลงกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย กรม สบส. จะได้เร่งดำเนินการพัฒนาให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย ให้มีความเข้าใจ รอบรู้ในเรื่องสุขภาพ ( Health Literacy) และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในทิศทางที่ดีขึ้น