องค์การการค้าโลก (WTO) จัดประชุมองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9 — 13 พฤศจิกายนนี้

ข่าวทั่วไป Thursday November 8, 2001 10:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--กระทรวงพาณิชย์
องค์การการค้าโลก ที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า World Trade Organization หรือ WTO จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9 — 13 พฤศจิกายนนี้ ที่กรุงโดฮา นครหลวงของกาตาร์ หลังจากเปลี่ยนจากแกตต์และจัดตั้งเป็นองค์การการค้าโลกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีวัตถุประสงค์และหน้าที่สำคัญดังนี้
วัตถุประสงค์ของ WTO คือ เป็นเวทีการเจรจาลดอุปสรรคทางการค้า และมีกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้การค้าเสรียิ่งขึ้น โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เป็นธรรม สร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการยุติข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ เป็นกลไกตรวจสอบและทบทวนนโยบายทางการค้าของประเทศสมาชิก
องค์การการค้าโลก เป็นองค์การที่จัดตั้งขึ้นภายหลังจากการเจรจาหลายฝ่ายรอบอุรุกวัย ทำหน้าที่ดูแลบริหารการดำเนินกิจการทางการค้าระหว่างประเทศ และขบวนการยุติข้อพิพาททางการค้าให้อยู่ภายใต้กรอบกติกาที่ได้ตกลงกันไว้ การเจรจารอบอุรุกวัยมีผลทำให้การค้าโลกเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยทำให้การค้าเสรี มีการแข่งขันกันมากขึ้น นอกจากนั้นยังสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในการแข่งขัน ทั้งนี้เนื่องจากตลาดการค้าโลกเปิดกว้างขึ้นทั้งสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และสิ่งทอ อันเป็นผลมาจากการปรับลดกำแพงภาษี การปรับเปลี่ยนมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี รวมทั้งการลดการอุดหนุนการผลิตและการอุดหนุนการส่งออก การลดอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้าดังกล่าวจะช่วยให้การค้าโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นการค้าโลกมีขอบเขตกว้างขึ้น เพราะนอกจากจะเปิดเสรีในด้านการค้าสินค้าแล้ว ยังครอบคลุมถึงเรื่องการค้าบริการ ทรัพย์สินทางปัญญาและมาตรการลงทุนที่เกี่ยวกับการค้า
การเปิดเสรีด้านการค้าบริการ มีการเจรจาเพื่อเปิดตลาดธุรกิจเป็นรายสาขา ซึ่งจะเป็นโอกาสให้การลงทุนในธุรกิจบริการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้รวมถึงการขยายการลงทุนทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานและโทรคมนาคม ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว และฉับไวยิ่งขึ้นด้วย
อุปสรรคในการลงทุนลดลง เนื่องจากมีข้อตกลงว่าด้วยการลงทุนที่เกี่ยวกับการค้าที่ตกลงให้ทุกประเทศยกเลิกมาตรการการลงทุนที่มีผลเป็นการกีดกันการนำเข้า และให้ยกเลิกการกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนจากแหล่งผลิตภายใน ซึ่งจะมีผลให้อุปสรรคในการลงทุนลดลง และบรรยากาศการลงทุนระหว่างประเทศเป็นไปในทิศทางที่เสรียิ่งขึ้น การแข่งขันทางการค้ามีความเป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากมีกฎเกณฑ์จะทางการค้าระหว่างประเทศที่ชัดเจนและเป็นธรรม และมีขบวนการยุติข้อพิพาทชัดเจน ยากแก่การที่ไม่ปฏิบัติตาม เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาทางการค้า
การประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 4,500 คน เป็นตัวแทนภาครัฐบาลประมาณ 2,000 คน ตัวแทนองค์กรเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ประมาณ 600 คน และสื่อมวลชนราว 700 คน
ดอกเตอร์มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากมีสาระสำคัญที่จะเข้าสู่การประชุม หรือ การพิจารณาถึงการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตกลงกันไว้ในการประชุมรอบอุรุกวัย ว่าที่ผ่านมามีปัญหาในการปฏิบัติอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขต่อไป รวมถึงเรื่องแผนการดำเนินงานของ WTO ในอนาคต ว่าจะทำอะไรต่อไป โดยเฉพาะเรื่องสินค้าเกษตร การเปิดตลาด การอุดหนุน การลดการแข่งขันต่าง ๆ ที่กระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา และที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งในการประชุมครั้งนี้ คือ สมาชิก WTO ทั้ง 142 ชาติ จะลงคะแนนเสียงรับจีนเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการด้วย หลังจากจีนต่อสู้เรื่องนี้มานานถึง 15 ปี คาดว่าการลงเสียงจะมีขึ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน ก่อนจะลงนามรับรองในวันถัดไป
สำหรับการเข้าเป็นสมาชิก WTO ทำให้จีนต้องเปิดประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่นๆ ที่จะเข้าไปทำการค้าขายกับจีนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าให้ไทยกว่า 100 รายการ และขยายโควต้าสินค้าเกษตรอื่น ๆ อีก ทำให้โอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าไปจีนมากขึ้น หากพิจารณาจากข้อเท็จจริง และแนวโน้มในทางปฏิบัติของไทยในแต่ละพันธกรณี จะเห็นว่าการเปิดเสรีเกือบไม่มีผลกระทบใด ๆ หรือหากจะมีก็ไม่ชัดเจนพอที่จะนำมากล่าวอ้างได้--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ