กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 เปิดเวทีถกปัญหาการบริหารจัดการธุรกิจสหกรณ์ ระดมสมองสู่แนวทางการพัฒนาเพื่อก้าวสู่เออีซี หวังเป็นแนวทางสู่งานวิจัยในการกำหนดนโยบายและมาตรการ ที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันให้สหกรณ์การเกษตรของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ
นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง"ศักยภาพการผลิตการตลาดของสหกรณ์การเกษตรในการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ณ โรงแรมเดอะปาร์ค จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่ง สศก. จัดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการที่ช่วยสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้สหกรณ์การเกษตรของไทยให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การสัมมนาดังกล่าว ได้มีการเสวนาในหัวข้อ "การบริหารจัดการธุรกิจสหกรณ์การเกษตรให้ประสบความสำเร็จและการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ซึ่งมีตัวแทนสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือที่มีผลดำเนินธุรกิจด้านการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดีเด่นในระดับภาคเหนือ 3 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด สหกรณ์นิคมนครชุม จำกัด และสหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ฝาง จำกัด เข้าร่วมเสวนา
สำหรับจุดเด่นของสหกรณ์พรหมพิราม จำกัด (จังหวัดพิษณุโลก) มีความโดดเด่นด้านการดำเนินธุรกิจส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์ให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว GAP ในสายพันธุ์ที่หน่วยงานภาครัฐให้การส่งเสริมว่ามีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่โดยเฉพาะพันธุ์พิษณุโลก 2 เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มีคุณภาพสูงเนื่องจากมีกรรมวิธีในการผลิตที่อาศัยเครื่องมือ เครื่องจักร โรงจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่วนมุมมองเกี่ยวกับการดำเนินการส่งออกสินค้าสู่ตลาด AEC ในระยะแรก ทางสหกรณ์เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐต้องให้ความช่วยเหลือโดยนำพาสหกรณ์ ไปเปิดตลาดเพื่อสร้างเครือข่ายทางการค้าทั้งกับภาคเอกชนและสหกรณ์ในกลุ่มประเทศอาเซียน
สหกรณ์นิคมนครชุม จำกัด (จังหวัดกำแพงเพชร) มีความโดดเด่นด้านการดำเนินธุรกิจส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์ให้ผลิตมันสำปะหลังคุณภาพดี จำหน่ายให้แก่สหกรณ์นำมาแปรรูปเป็นมันเส้นสะอาดตามมาตรฐานทางการค้า โดยทางสหกรณ์ ได้เริ่มใช้ระบบชลประทานน้ำหยดมานานกว่า 3 ปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้แก่เกษตรกรสมาชิก สนับสนุนระบบสินเชื่อดอกเบี้ยให้เกษตรกรลงทุนจัดทำระบบน้ำหยดในแปลงของตนเอง ส่วนผลกระทบจากการเข้าสู่ AEC นั้น ทางสหกรณ์เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบ เนื่องจากดำเนินการผลิตสินค้าคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดระดับสากล ซึ่งการส่งออกสินค้าสู่ตลาด AEC ในระยะแรก ภาครัฐควรจัดเวทีให้สหกรณ์การเกษตรในประเทศและต่างประเทศได้รู้จักและเชื่อมโยงการผลิตในห่วงโซ่อุปทานร่วมกัน
สหกรณ์หอมหัวใหญ่ฝาง จำกัด (จังหวัดเชียงใหม่) มีความโดดเด่นด้านการดำเนินธุรกิจส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์ให้ผลิตหอมหัวใหญ่ GAP อย่างไรก็ตาม เกษตรกรสมาชิกส่วนใหญ่ได้ผลิตพืชผักชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น พริก และพืชไร่อื่นๆ โดยสหกรณ์ ได้วางแผนการผลิตร่วมกับพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากเป็นสินค้าเน่าเสียง่าย หากผลิตมากเกินความต้องการ อาจเสี่ยงต่อภาวะการขาดทุนจากการผลิต ส่วนมุมมองการส่งออกสินค้าสู่ตลาด AEC ทางสหกรณ์เห็นว่า หอมหัวใหญ่เป็นสินค้าที่ประเทศในกลุ่ม AEC ผลิตกันค่อนข้างมากและเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศของตนเอง ดังนั้น หากภาครัฐจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าควรบริหารจัดการการนำเข้าไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ มีการเข้มงวดกับการปราบปรามการนำเข้าที่ผิดกฎหมาย รวมถึงบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ด้วย
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ จำเป็นต้องผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด ควบคู่กับการปรับแนวทางการบริหารธุรกิจเพื่อให้สหกรณ์ดำรงอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ภัยธรรมชาติก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังและเตรียมมาตรการรองรับ ซึ่งภาครัฐโดยหน่วยงานเกี่ยวข้อง ต้องเข้มงวดกับการปราบปรามการนำเข้าที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าเครือข่ายของสหกรณ์จะช่วยสนับสนุนด้านการผลิต การตลาด และสร้างมูลค่าการค้าของสหกรณ์ให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ คณะนักวิจัยเชิงบูรณาการ ของ สศก. จะได้รวบรวมข้อมูลจากการสัมมนาครั้งนี้ เพื่อนำไปปรับปรุงงานวิจัยเรื่องศักยภาพการผลิตการตลาดของสหกรณ์การเกษตรในการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยคาดว่างานวิจัยดังกล่าวจะแล้วเสร็จในต้นปี 2559 ที่จะถึงนี้ นายชวพฤฒ กล่าว