กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--พีอาร์ดีดี
นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด เปิดเผยว่า สรุปภาพรวมการเคลื่อนไหวของราคาทองตลาดโลกในปี 2558 (ณ 25 ธ.ค.58) ปรับตัวลง 108.05 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือปรับตัวลง 9.13% จากราคาเปิดในช่วงต้นปี2558 ที่ 1,183.55 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยเหวี่ยงตัวในระดับ 260.35 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 22% จากราคาเปิด สาเหตุหลักมาจากความกังวลในประเด็นการคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่การประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2558 เฟดได้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% อยู่ในช่วง 0.25-0.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์กันไว้ โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2006
ขณะที่ราคาทองคำในประเทศนั้นปรับตัวลงน้อยกว่าราคาทองคำในตลาดโลกค่อนข้างมาก โดยอ่อนตัวลงเพียง 150 บาทต่อบาททองคำ หรือประมาณ 0.81% เนื่องจากค่าเงินบาทในปีนี้อ่อนค่าไปแล้วถึง 3.15บาทต่อดอลลาร์หรือ 9.57% เพราะการแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จากกระแสการเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมไปถึงสถานการณ์ภายในประเทศเองไม่ว่าจะเป็นระเบิดที่แยกราชประสงค์ รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจไทยซึ่งการส่งออกยังเป็นประเด็นที่น่ากังวล
นางสาวฐิภา กล่าวว่า สำหรับภาพรวมราคาทองคำในตลาดโลกปี 2559 หากราคาทำจุดต่ำสุดใหม่ที่ต่ำกว่า 1,046ดอลลาร์ต่อออนซ์ มีโอกาสที่ราคาจะอ่อนตัวลงไปสู่บริเวณ 1,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยวายแอลจีประเมินกรอบความเคลื่อนไหวราคาทองคำมีแนวรับที่ 1,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 17,500 บาทต่อบาททองคำ และแนวต้านอยู่ที่ 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 21,000 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่กลยุทธ์การลงทุนนั้น แนะนำให้นักลงทุนระยะกลางถึงยาวอาจเริ่มเข้าสะสมทองได้ตั้งแต่บริเวณ1,046 จนถึง 1,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนนักลงทุนระยะสั้นเก็งกำไรในกรอบแนวรับ-แนวต้าน โดยพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯรายวันประกอบการตัดสินใจลงทุน
ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามซึ่งจะส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของราคาทองคำในปี 2559 คือนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้เฟดยังได้เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.4% ในปี 2016, 2.2% ในปี 2017 และ 2.0% ในปี 2018 ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวขึ้นจาก 0.4% ในปี 2015 สู่ระดับ 1.6% ในปี 2016 และสู่ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟด ในปี 2018 และเฟดระบุว่าอัตราว่างงานจะมีเสถียรภาพที่ระดับ 4.7% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยการคาดการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นจำนวน 4 ครั้งในปีหน้า, 4 ครั้งในปี 2017 และ 3-4 ครั้งในปี 2018
ส่วนราคาน้ำมัน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2557 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ได้ดิ่งลง 33.64% โดยดิ่งลง จากระดับ 55.88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สู่ระดับ ราว 37.08 ดอลลาร์ในปัจจุบันการปรับตัวลงครั้งใหญ่นี้มีสาเหตุสำคัญมาจากสภาวะอุปทานล้นตลาด และการชะลอตัวลงของอุปสงค์จากจีนและตลาดเกิดใหม่นอกจากนี้การประชุมของโอเปคในวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมาไม่สามารถตกลงกันได้ถึงเพดานการผลิต ยิ่งกดดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวลงไปต่อเนื่อง(ปัจจุบันโอเปคมีกำลังการผลิตประมาณ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
นอกจากนี้ในส่วนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะแข็งค่าแต่อาจไม่มากเท่าปี 2558 เนื่องจากตลาดได้ตอบรับประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปมากแล้ว ทั้งนี้ค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องในปี 2559 ซึ่งประเมินไว้ในบริเวณ 36.80-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้จะเห็นความผันผวนที่มากยิ่งขึ้นจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆของโลก